เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดทําบัญชีรายชื่อทนายความและการตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจําเลย พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ลงนามโดย นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา
โดยที่ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจําเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๑๐ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ยกเว้นศาลเยาวชนและครอบครัว จัดทําบัญชีรายชื่อทนายความซึ่งได้แจ้งความประสงค์ต่อศาลว่าจะรับเป็น
ทนายความตามมาตรา ๑๗๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้มีข้อมูลเกี่ยวกับ สถานที่ติดต่อ รวมทั้งประสบการณ์หรือระยะเวลาการทํางานของทนายความนั้นตามสมควร
และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความ ที่ศาลตั้งให้จําเลยในการไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๕/๑ พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๙ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา ยกเว้นศาลเยาวชนและครอบครัวนําบัญชีรายชื่อทนายความซึ่งได้แจ้งความประสงค์ต่อศาลว่าจะรับเป็น ทนายความตามมาตรา ๑๗๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้กับการตั้งทนายความ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามระเบียบดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจําเลย ที่ไม่อาจจัดหาทนายความได้ให้มีความเท่าเทียมในการมีทนายความ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับประเภทคดี ทําหน้าที่ช่วยเหลือต่อสู้คดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรกําหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทําบัญชีรายชื่อทนายความและการตั้งทนายความไว้
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประธานศาลฎีกา จึงวางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดทําบัญชี รายชื่อทนายความและการตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจําเลย พ.ศ. ๒๕๖๗
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“ศาล” หมายความว่า ศาลชั้นต้นซึ่งมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ยกเว้นศาลเยาวชนและครอบครัว
“ผู้รับผิดชอบราชการศาล” หมายความว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
“ผู้อํานวยการ” หมายความว่า ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลยุติธรรมหรือ ผู้อํานวยการสํานักงานประจําศาลยุติธรรม
“คําขอ” หมายความว่า คําขอแสดงความประสงค์รับเป็นทนายความตามมาตรา ๑๖๕/๑ และมาตรา ๑๗๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“บัญชีรายชื่อทนายความ” หมายความว่า บัญชีรายชื่อทนายความซึ่งประสงค์จะรับเป็นทนายความ ตามมาตรา ๑๖๕/๑ และมาตรา ๑๗๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ของแต่ละศาล
ข้อ ๔ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติ หรือคําสั่งอื่นใ ในส่วนที่กําหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๕ เพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศาลอาจกําหนดแนวปฏิบัติของแต่ละศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
ข้อ ๖ ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติ ตามระเบียบนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กําหนดวิธีการนั้น
หมวด ๑
บัญชีรายชื่อทนายความ
ส่วนที่๑
การขอขึ้นบัญชีรายชื่อทนายความ
ข้อ ๗ ให้ศาลออกประกาศให้ทนายความที่ประสงค์จะรับเป็นทนายความตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๕/๑ และมาตรา ๑๗๓ ยื่นคําขอต่อศาลที่ประสงค์จะขึ้นบัญชี รายชื่อทนายความตามแบบที่สํานักงานศาลยุติธรรมกําหนดทนายความที่ประสงค์จะขอขึ้นบัญชีรายชื่อทนายความอาจระบุถึงความเชี่ยวชาญทางคดีซึ่งสามารถระบุได้มากกว่าหนึ่งประเภทคดี
โดยให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลกําหนดประเภทความเชี่ยวชาญทางคดีที่ต้องการให้ขึ้นบัญชีรายชื่อทนายความไว้ ในประกาศตามวรรคหนึ่ง ตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้
(๑) คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
(๒) คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ