13 พ.ย. 2567 ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ“รับ-ไม่รับ”คดียุบพรรคเพื่อไทย

10 พ.ย. 2567 | 00:30 น.

นับถอยหลังลุ้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่ง “รับ-ไม่รับ” คำร้องไว้วินิจฉัย 13 พ.ย.นี้ คดีกล่าวหา“ทักษิณ”ล้มล้างการปกครอง-ยุบพรรคเพื่อไทย ขณะที่ทีมอัยการชี้คำร้องไม่มีมูล ให้ยุติเรื่อง

KEY

POINTS

 

  • นับถอยหลังลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “รับ-ไม่รับ” คำร้องไว้วินิจฉัย 13 พ.ย.นี้ คดีกล่าวหา“ทักษิณ”ล้มล้างการปกครอง อันจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย ในลำดับถัดไป
  • ขณะที่ทีมสอบอัยการชี้ปมพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ เสนอ อสส.ให้ยุติเรื่อง 
  • คดีนี้หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย”ก็โล่งอกไป แต่หากรับ ก็ต้องไปลุ้นดาบสองคดียุบพรรค ตัดสิทธิ์กก.บห. 10 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของ “รัฐบาลแพทองธาร”ได้ 

คดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 นั้น

13 พ.ย.ลุ้นศาลรับ-ไม่รับคำร้อง

คาดว่า ในวันพุธที่ 13 พ.ย. 2567 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาความคืบหน้าคดีดังกล่าว ภายหลังจาก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่า ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งครบกำหนดตามวันที่ศาลรัฐธรรมนูญร้องขอประมาณวันที่ 7-8 พ.ย.นี้แล้ว

กรณีนี้แม้ นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง จะยังไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” แต่ถ้าศาลฯ สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ 

ดาบสองที่จะตามมาก็คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” และ เอาผิดกับ ทักษิณ ชินวัตร 

และหากในที่สุด ศาลฯ สั่งยุบพรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จะถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของ “รัฐบาลแพทองธาร”  

                                       13 พ.ย. 2567 ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ“รับ-ไม่รับ”คดียุบพรรคเพื่อไทย

ทีมอัยการชี้คำร้องไม่มีมูล

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าว มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2567 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงพรรคเพื่อไทย (พท.) เชิญมาให้ถ้อยคำ กรณีที่ นายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อ อสส. เพื่อส่งเรื่องศาสรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

ทั้งนี้ คณะทำงานอัยการพิจารณาเเล้ว มีความประสงค์ทราบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาของอัยการสูงสุด จึงเชิญให้ไปให้ถ้อยคำพร้อมมอบพยานหลักฐาน (ถ้ามี) ต่อพนักงานอัยการ ในวันที่ 30 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 

มีรายงานด้วยว่า เมื่อตอนที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับคำร้องจาก นายธีรยุทธ แล้ว ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุดเป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยังอัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่ง

ท้งนี้คณะทำงานมีความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง โดยแจ้งเหตุผล ว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ 

ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมือง เป็นอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่อง ไปยังอัยการสูงสุด  

จากนั้น อัยการสูงสุดได้พิจารณาเเล้ว เห็นควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากฝ่ายผู้ร้อง เเละ ผู้ถูกร้อง 

                                  13 พ.ย. 2567 ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ“รับ-ไม่รับ”คดียุบพรรคเพื่อไทย

“ชูศักดิ์-ธีรยุทธ”แจงอัยการ

ต่อมามีรายงานว่า ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานอัยการ สำนักงานการสอบสวน เช่นเดียวกับ นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง ก็ได้เข้าให้ถ้อยคำแล้ว

นายชูศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงการเข้าชี้แจงต่ออัยการว่า อัยการสูงสุดให้สอบเพิ่มทั้งฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง เพราะเดิมทางคณะทำงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว แต่ท้ายที่สุดอัยการสูงสุดให้สอบเพิ่มเพื่อให้ละเอียดและรอบคอบ จึงเป็นที่มาให้พรรคเพื่อไทยเข้าให้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร

“ผมจึงเดินทางเข้าไปให้ปากคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบการรวบรวมเอกสารหลักฐาน ให้อัยการสูงสุดส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งความเห็นภายในวันที่ 8 หรือ 15 พ.ย.นี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ซึ่งผมยังไม่มั่นใจ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นสาเหตุให้ผมเดินทางไป และผมก็ให้การตามที่ทุกคนเคยรับรู้รับทราบแล้ว”

ย้ำข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายมั่ว

ส่วนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เริ่มเคลื่อนไหว ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีขึ้นทางคดีที่ถูกร้องอยู่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องแยกกันระหว่างคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนทราบว่าผู้ร้องคือใคร และร้องประเด็นใด ซึ่งเป็นการร้องตามมาตรา 49 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครอง แต่พรรคเพื่อไทยดูแล้วคำร้องทั้งหมดนั้น ไม่เข้าตามมาตราดังกล่าว 

เพราะฉะนั้น ตนขอใช้คำง่ายๆ ว่า ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมันมั่ว ส่วนคำชี้แจงจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ

                                13 พ.ย. 2567 ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ“รับ-ไม่รับ”คดียุบพรรคเพื่อไทย

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับคำร้องอีก 1 เรื่องที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการครอบงำพรรคของ นายทักษิณ ยืนยันว่าไม่ใช่การครอบงำอะไร

...มารอลุ้นกันว่า ในวันที่ 13 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่ง “รับ-ไม่รับ”คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเลยหรือไม่ หรือ จะสั่งเป็นประการใดเพิ่มเติม

                                 ++++++++


6 ข้อกล่าวหาทักษิณ-เพื่อไทย

สำหรับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ใน 6 พฤติการณ์ ประกอบด้วย 

1. หลัง นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ  

2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับ สมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย 

3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง  

6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567