KEY
POINTS
ประเด็นทางการเมืองที่เป็น “เรื่องใหญ่” และน่าติดตามในช่วงนี้ ก็คือ กรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แม้เรื่องนี้ นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้องจะยังไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย”
แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามคำร้องขอของนายธีรยุทธ แล้ว
นั่นหมายความว่า ทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย มีความผิด
ดาบสองที่จะตามมาก็คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” และ เอาผิดกับ ทักษิณ ชินวัตร
และหากในที่สุด หากศาลฯ สั่งยุบพรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จะถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของ “รัฐบาลแพทองธาร”
ศาลรธน.ยังไม่ถกคำร้องธีรยุทธ
คำร้องนี้ นายธีรยุทธ ยื่นต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คำร้องนี้คาดว่าจะยังไม่บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 นี้ ว่าจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
ส่วนสัปดาห์หน้า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมกันในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม เนื่องจากวันพุธที่ 23 ตุลาคม เป็นวันหยุดราชการ ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวหรือไม่ หรืออาจต้องไปลุ้นวันพุธที่ 30 ต.ค. อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาและมีมติออกมาว่า จะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ไม่เกินภายในเดือนพฤศจิกายนนี้แน่นอน
ถ้าศาล “ไม่รับคำร้อง” ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับ ทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย และจะไม่กระทบไปถึง “รัฐบาลแพทองธาร”
แต่ถ้าศาล “รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย ขั้นตอนต่อไปก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ที่จะเปิดโอกาสให้ “ผู้ถูกร้อง” ได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป
ในกรณี “ยุบพรรคก้าวไกล” ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณาก่อนตัดสินกว่า 5 เดือน นับแต่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยศาลไม่เปิดการไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกล พยายามร้องขอ แต่ใช้วิธีรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจง
คำร้องนี้ถ้าศาล “รับไว้วินิจฉัย” ก็อาจใช้เวลาพิจารณาประมาณ 5 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการออกนั่งบัลลังก์เปิดการไต่สวนพยานหรือไม่
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่พิจารณาคำร้องนี้ ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายอุดม รัฐอมฤต 3.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ 4.นายปัญญา อุดชาชน 5.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 7.นายจิรนิติ หะวานนท์ 8.นายนภดล เทพพิทักษ์ 9. นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
6 ข้อหาทักษิณ-เพื่อไทย
สำหรับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น กล่าวหา นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ใน 6 พฤติการณ์คือ
1. หลังนายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย
3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อ้าง“ทักษิณ”ครอบงำ พท.
4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง
6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567
ขอให้เลิก 8 พฤติการณ์
ทั้ง 6 พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ตามที่ศาลฯ ได้เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ในหลายคำวินิจฉัย อาทิ คำวินิจฉัยสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการกระทำ และยุบพรรคก้าวไกล
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุความเสียหายร้ายแรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขอให้ศาลฯ วินิจฉัยสั่งการรวม 8 ข้อ คือ ให้นายทักษิณ เลิกใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เลิกสั่งการดำเนินการของพรรคเพื่อไทย
เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และ ให้พรรคเพื่อไทย เลิกยินยอมให้นายทักษิณ ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าว
+++++++++
คำร้อง“ธีรยุทธ”ไกลเกินกว่าเหตุ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 6 ประเด็น ที่นายธีรยุทธ ยื่นร้อง มันไกลกว่าเหตุที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งคำคำนี้มีคำซ้อนอยู่สองคำ คำแรกคือ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และบวกด้วยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“เขาพยายามที่จะบรรยายให้เข้าเกณฑ์คำวินิจฉัยของพรรคก้าวไกลว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซึ่งผมคิดว่ามันไกลกว่าเหตุมาก ตัวอย่างเช่นการบรรยายคำร้อง ว่าการแก้กฎหมาย การเอานโยบายไปใช้ การไปอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นการบรรยายเกินกว่าเหตุ มันไม่มีมูลอะไร”
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ เรื่องของสถาบันเราคิดว่าเรายืนเรื่องนี้แน่นมาตลอด โดยเฉพาะ นายทักษิณถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายทักษิณ อยู่ต่างประเทศ ได้แนะนำผ่านทางคณะทำงานของท่าน ว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 อย่าแตะ นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
“จนมาถึงรัฐบาลนี้ นโยบายชัดเจนว่า เราแก้รัฐธรรมนูญ เราไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เรายึดมั่นในจุดนี้ และแน่นอนที่สุดว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีเรื่องที่จะไปเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย”
อีกทั้งเมื่อตนดูในรายละเอียดคำร้อง ที่ระบุพรรคเพื่อไทยไปร่วมมือกับฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำถามคือ การร่วมมือกันในการทำกฏหมายผิดอะไร เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายอะไร และกฎหมายที่แก้ก็ เป็นเรื่องการแก้เรื่องจริยธรรม เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น เป็นผลดีกับประชาธิปไตย ไม่ใช่ยกเลิก
“ผมไม่เห็นว่าไปเอื้อกับ นายทักษิณ ตรงไหน โดยรวมมันเกินกว่าเหตุ พยายามบรรยายให้เข้าองค์ประกอบ ให้เหมือนกับคำวินิจฉัยครั้งที่แล้ว ผมมองว่าคนละเรื่องคนละราวกัน” นายชูศักดิ์ ย้ำ
เมื่อถามว่าไม่กังวลกับคำร้องใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า โดยรวมคิดว่าไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะเรายึดมั่นมาแบบนี้ตลอด ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนจะต้องตั้งคณะทำงานเพื่อไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าศาลจะรับคำร้องหรือไม่ หากรับเราก็ยินดีชี้แจง และก็มีคณะทำงานอยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย