7 อรหันต์ กกต. ชี้ชะตายุบเพื่อไทยพ่วงพรรคร่วมรัฐบาล

23 ต.ค. 2567 | 00:59 น.

เปิดโฉม 7 อรหันต์ กกต. “อิทธิพร-สันทัด-ปกรณ์-เลิศวิโรจน์-ฐิติเชฏฐ์-ชาย-สิทธิโชติ” ชี้ขาดส่งศาลรัฐธรรมูญ ยุบเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ปม“ทักษิณ”ครอบงำ ด้านแกนนำเพื่อไทยไม่กังวลคำร้องยุบพรรค

ภายหลัง เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 มีรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม  

จากเหตุ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย กระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล

โดยให้คณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ ก่อนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็น และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ กกต. 7 คน เพื่อพิจารณาว่า จะมีมติเสนอให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย และ  6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมหรือไม่ 

ที่มากกต.ถกคดียุบพรรค

กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลนิรนาม, น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง 

โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของ นายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ไปร่วมประชุมกับ นายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า  เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง  

มีการพูดคุยเสนอชื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ แต่วันรุ่งขึ้น พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ จึงทำให้ถูกมองว่า เกิดจาก นายทักษิณ ครอบงำพรรคเพื่อไทย และ 5 พรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่การให้สัมภาษณ์ของ นายทักษิณ หลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทย ในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่ นายทักษิณ ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล 

โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใด อันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือ ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  

และการที่พรรคเพื่อไทย และ 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรง หรือ ทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 

ทั้งนี้หากการสอบสวนพบว่า เป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้ นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต. ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้

สำหรับ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคประชาชาติ 

                                   7 อรหันต์ กกต. ชี้ชะตายุบเพื่อไทยพ่วงพรรคร่วมรัฐบาล

7 อรหันต์กกต.ชี้ขาดยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจจะเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ยุบ-ไม่ยุบพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้น ไม่ได้อยู่ที่ นายแสวง บุญมี ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่จะต้องผ่านการพิจารณา และมีมติของ กรรมการ กกต. ทั้ง 7 คน 

สำหรับ กกต.ชุดปัจจุบัน ที่มีอยู่ด้วยกัน 7 คน ประกอบด้วย 

1.นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน (อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์)  

2.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ (อดีตศาสตราจารย์ระดับ 10 ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

3.นายปกรณ์ มหรรณพ (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา) 

4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ (อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

5.นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ (อดีตทนายความ) 

6.นายชาย นครชัย (อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)

และ 7.นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา)

                        7 อรหันต์ กกต. ชี้ชะตายุบเพื่อไทยพ่วงพรรคร่วมรัฐบาล

...กระบวนการพิจารณายุบพรรคเมือง ในมือของคณะกรรมการที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งขึ้น ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ  ก่อนจะส่งมาให้นายทะเบียนฯ พิจารณา และส่งให้ “7 อรหันต์ กกต.” พิจารณาตัดสิน ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะจบกระบวนการในชั้น กกต.

ประเด็นที่ต้องลุ้นคือ 7 อรหันต์ กกต. จะมีมติให้ส่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล หรือไม่เท่านั้น...  

ดีไม่ดี “ศาลรัฐธรรมนูญ” อาจจะชี้ขาดคำร้องในลักษณะเดียวกัน ของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ออกมาเสียก่อน โดยที่ กกต.ไม่จำเป็นต้องมีมติในคำร้องดังกล่าวออกมาเลย ก็เป็นไปได้...  

                               ++++++++

 

“เพื่อไทย”ไม่กังวลกกต.ยุบพรรค   

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังงานเลี้ยงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ถึงกรณีมีการร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่ถูกกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร  ครอบงำ ว่า ทุกอย่างไม่ได้เข้าข้อกล่าวหาอยู่แล้ว แต่ถ้ากฎหมายหรืออะไรที่จะต้องให้ความร่วมมือ ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรต้องห่วง 

“ถ้าสมมติเราไปรับประทานข้าวร่วมกัน เป็นการครอบงำเลยหรือไม่ เช่น หากไปรับประทานข้าวกับอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะเป็นการครอบงำหรือไม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ความสัมพันธ์ที่ดีก็คือความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่การครอบงำ เชื่อว่าหลายๆ คนในที่นี้ รักเคารพนายทักษิณ

โดยที่ว่าบางทีอาจจะไม่ใช่การคุยการเมืองเลยด้วยซ้ำ และอาจจะเป็นการคุยการเมืองเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง สมัยนั้นใครเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก อะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกัน”    

นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า ทุกๆ คนมีความคิดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรคอื่นๆ ก็ตาม ถ้าโดนเรื่องใดๆ ทุกพรรคมีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่ต้องได้รับคำปรึกษามาก่อน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ครอบงำไม่ได้อยู่ดี มันไม่มีใครครอบงำได้ ในพรรคต้องคุยกันเอง ตกลงกันเองในทุกๆ เรื่อง 

“เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดว่า การติดต่อกับนายทักษิณ ซึ่งวันนี้กลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว การครอบงำก็ต้องครอบงำมาทุกอย่างแล้ว ถ้าคุยกับ นายทักษิณ เป็นการครอบงำ เท่ากับอันนั้นมันก็ไม่ได้แล้ว” น.ส.แพทองธาร กล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า “คนเราก็สามารถไปมาหาสู่กันได้ คนเราไปทานข้าวกัน เพราะนอกจากจะเป็นบ้านของอดีตนายกฯ แล้ว ก็ยังเป็นบ้านของ น.ส.แพทองธาร ด้วย 

“ไม่กังวล ให้ทุกอย่างว่าไปตามกระบวนการ ไม่มีปัญหาอะไร มิเช่นนั้นคนเราก็มีความสัมพันธ์กันไม่ได้สิ” นายภูมิธรรม กล่าว

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 ว่า  ไม่ได้วิตกกังวลอะไร และต้องถามว่าอดีตนายกฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลถูกครอบงำไหม 

“การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ชัดเจน แคนดิเดตนายกฯ ต้องมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น พรรคแกนนำที่เสียงมากที่สุดก็มีเหลืออยู่ 2 คน ก็จำเป็นต้องคุยกันว่าจะเอาใคร จะคุยที่ไหนก็เอาที่สะดวก คุยกันว่าเป็นท่านชัยเกษม นิติสิริ เช้าวันรุ่งขึ้นพรรคเพื่อไทยเสนอนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร อย่างนี้ก็ชัดเจนว่า เราเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดอิสระ แล้วพรรคร่วมก็เอาตามนั้น จะครอบงำอะไร” 

นายชูศักดิ์ ย้ำว่า การครอบงำต้องเป็นเรื่องแทรกแซง สั่งการ จนคณะกรรมการบริหารและคนที่เกี่ยวข้องไม่มีอิสระในการบริหาร ผมก็บอกไปแล้วว่าใครมาสั่งการอะไรตอนเย็นมีมติแบบนี้ พูดกันแบบนี้ เช้าเราก็บอกว่าไม่ใช่ เราก็เห็นกันแบบนี้ มันก็ชัดเจนอย่างนี้”