เช็กรายชื่อ บอร์ดคดีพิเศษชุดใหม่ 9 คน ชาติพงษ์-นรินท์พงศ์ นั่ง กคพ.ด้าน ก.ม.

21 พ.ย. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2567 | 07:14 น.

เช็กรายชื่อ ครม.อนุมัติแต่งตั้ง คณะกรรมการคดีพิเศษใหม่จำนวน 9 คน ตััง “ ชาติพงษ์ – นรินท์พงศ์” นั่ง กคพ.ด้านกฏหมาย มีใครบ้างคลิกอ่านด่วน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)จำนวน 9 คน  เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

  • นายเพ็ชร ชินบุตร (ด้านเศรษฐศาสตร์)
  • นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม (ด้านการเงินการธนาคาร)
  • นางดวงตา ตันโช (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
  • นายชาติพงษ์ จีระพันธุ (ด้านกฎหมาย)
  • นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์  (ด้านกฎหมาย)
  • นางทัชมัย ฤกษะสุต (ด้านกฎหมาย)
  • พลตำรวจเอก สุทิน ทรัพย์พ่วง (ด้านการสอบสวนคดีอาญา)
  • พลตำรวจโท สำราญ นวลมา  (ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
  • พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก  (ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล)

โดยในส่วน ประธานคณะกรรมการคดีพิเศษโดยหลักการจะเป็นนายกรัฐมนตรีเเต่ที่ผ่านมาก็จะมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูเเลด้านความมั่นคงมานั่งเป็นประธานตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายซึ่งปัจจุบันเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เเละจะมีคณะกรรมการคดีพิเศษโดยตำเเหน่งที่มาจากหน่วยงานต่างๆอาทิ เช่น อัยการสูงสุด, สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ, ดีเอสไอ สภาทนายความฯ เเละ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยบทบาทสำคัญของกรรมการคดีพิเศษคือการรับเรื่องดำเนินการเป็นคดีพิเศษ ซึ่งปกติเเล้วการรับคดีเป็นคดีพิเศษจะมี2ประเภท คือเข้าเกณฑ์ที่ต้องรับโดยอัตโนมัติ

อาทิเช่นคดีมีผู้เสียหาย 100 คน ความเสียหายเกิน 300 ล้าน เเละเงื่อนไขตามกฎหมายอื่นๆ

เเต่ทว่าในส่วนคดีอาญาทั่วไปที่ทางดีเอสไอไปสืบสวนเรื่องเเละเห็นควรเสนอให้รับึดีไว้เป็นคดีพิเศษก็จะเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติเห็นควร 2 ใน3 จึงจะรับไว้เป็นคดีพิเศษ โดยมีอำนาจรับคดีไว้ได้เเม้กระทั่งบางคดีที่อยู่ในอำนาจของตำรวจเเล้ว

 

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ในชุดนี้มีบุคคลที่น่าสนใจในสายกฎหมาย คือ 

นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ ที่ล่าสุด ได้รับเเต่งตั้งจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ในคดีดิไอคอน  ทั้งยังเคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.) และเคหะสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งที้ผ่านมาหากมีคดีที่เกี่ยวพันถึงข้าราชการระดับสูง หรือคดีอิทธิพลต่างๆ จะมีการดึงนายชาติพงษ์ เข้ามาเป็นกรรมการ

เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเเม่นยำในข้อกฎหมาย  เเละเคยเป็นอดีตรองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) ซึ่งในสมัยเป็นอัยการ มีฝีมือเรื่องปราบการทุจริตคอร์รัปชัน และประสบการณ์มากมาย เคยเป็นรองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานที่คุมคดีสำคัญของสำนักงานคดีพิเศษหลายคดี , คดีนิติบุคคล ฟิลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนั้นมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ ในเรื่องนี้ที่องค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ , คดีทุจริต สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกี่ยวพันถึงคดีทุจริตฟอกเงินเครือข่ายวัดธรรมกาย , คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร , คดีทุจริตการฟอกเงินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน , เคยเป็นกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องบอส ลูกนักธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ 

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย 6 สมัยติดต่อกัน ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทในการนำสมาคมทนายความช่วยเหลือประชาชน ทุกระดับเเละทำคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างโชกโชน เเละคดีของนักการเมืองดังมีชื่อเสียง เเละที่ผ่านมามีการให้ความเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเเละข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นทีมกฎหมายทำคดีที่มีมูลค่าสูงที่เกี่ยวกับรัฐ หรือบริษัทนายทุนยักษ์ใหญ่ ถือเป็นทนายความระดับบรมครูที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน 

 

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์

อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ของคณะกรรมการคดีพิเศษตามกฎหมายเป็นไปตามมาตรา 10 แห่ง พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ดังนี้

1.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษ ตามมาตรา 21วรรรคหนึ่ง (1)

2.กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (1)

3.มีมติเกี่ยวกับคดีความผิดทางอาญาอื่นตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (2)

4.กำหนดข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ตามที่มีบทบัญญัติกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคดีพิเศษ

5.ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตาม พรบ.นี้

6.ให้ความเห็นชอบหลักสูตรสอบสวนคดีพิเศษ

7.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย
(1) การมีมติตามมาตรา 21วรรคท้าย เพื่อชี้ขาดกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือมีข้อสงสัยว่า การกระทำความผิดใดเป็นคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่
(2) การให้ความเห็นชอบคดีพิเศษคดีหนึ่งคดีใดหรือคดีประเภทใดต้องมีพนักงานอัยการหรืออัยการทหารมาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา 32
(3) การมีมติให้คดีพิเศษที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ประกาศใช้และคดียังไม่ถึงที่สุดมาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา 44 ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการคดีพิเศษดำเนินการโดยผ่านกระบวนการประชุม ขึ้นตามมาตรา 11 แห่ง พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วย คณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้กับการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษโดยอนุโลม และตามมาตรา 12ได้ให้อำนาจคณะกรรมการคดีพิเศษแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษกำหนด โดยกำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย.