“นฤมล” ไฟเขียวส่งเรื่องดีเอสไอ รับ “ยางเถื่อน”เป็นคดีพิเศษ

25 ต.ค. 2567 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 09:08 น.

“นฤมล” ไฟเขียว กยท. ส่งสำนวน คดี “ยางเถื่อน” ให้ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ ฟันผู้ร่วมขบวนการ หลังสร้างความเสียหายกว่าหมื่นล้าน พบโยงใยเจ้าหน้าที่รัฐ เตรียมขยายผลฟันโบรกเกอร์และผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลัง ขณะเตรียมชง กนย. ใช้งบ 4.5 หมื่นล้าน ช่วยชาวสวน ป้องราคายางตก

จากปัญหาการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนไทย โดยเฉพาะยางพาราจากประเทศเมียนมาที่มีราคาตํ่ากว่าราคายางไทย ที่ผ่านมาพบมีการสวมสิทธิยางพาราไทย สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และส่งผลทำให้ราคายางในประเทศตกตํ่าต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารจัดการยางพารา โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ได้มีการประมวลความเสียหายมากกว่าหมื่นล้านบาท

นายเพิก เลิศวังพง

 

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) และอดีตคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการบริหารจัดการยางพารา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือในวาระเร่งด่วน กับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นด้วยที่จะทำตามกระบวนการที่สำคัญคือจะส่งเรื่องคดียางเถื่อน ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อรับเป็นคดีพิเศษ เหมือนคดีหมูเถื่อน เนื่องจากเรื่องนี้ได้สร้างความเสียหายมาอย่างยาวนาน นับหมื่นล้านบาท

“นฤมล” ไฟเขียวส่งเรื่องดีเอสไอ รับ “ยางเถื่อน”เป็นคดีพิเศษ

โดยกระบวนการมีบริษัท ทำหน้าที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) ในลักษณะเป็นยี่ปั๊วรายใหญ่รับจ้างซื้อยางเข้าโรงงานให้กับบริษัทต่างๆ โดยไปรับซื้อจากกลุ่มขบวนการที่รับซื้อยางเถื่อนนำมาขายต่อให้กับบริษัทต่างๆ ในประเทศ ซึ่งถามว่าบริษัทต่างๆ รู้หรือไม่ว่าเป็นยางเถื่อนก็รู้ แต่เมื่อราคาถูกกว่ายางไทย ก็หลับตาข้างหนึ่งเพื่อลดต้นทุน มองว่าเป็นการเอาเปรียบและซํ้าเติมเกษตรกรจากราคาตกตํ่าผลผลิตลดลงจากโรคใบร่วงและภัยแล้ง ทำให้กรีดยางได้น้อยลง

 

“กลุ่มบริษัทนี้มีนักการเมืองหนุนหลัง เป็นผู้มีอิทธิพล เบื้องหลังมีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้าไปมีเกี่ยวข้อง รับส่วยรับสินบน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อให้บริษัทกระทำการมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ซึ่งจากกลุ่มคณะทำงานฯ ก็มาตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช (Nakaraja Task Force) หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย” แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เริ่มปฏิบัติภารกิจ (เมื่อ 30 พ.ย. 2566 )”

 

“นฤมล” ไฟเขียวส่งเรื่องดีเอสไอ รับ “ยางเถื่อน”เป็นคดีพิเศษ

 

ทั้งนี้ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ในการเข้าตรวจค้น ดำเนินคดี ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่ออายัดทรัพย์ได้มีการสนธิกำลังกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) ,สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการกองทัพไทย และดีเอสไอ เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด

 

สำหรับ กยท. เป็นองค์กรของรัฐ เป็นที่พึ่งเกษตรกรชาวสวนยาง 6 ล้านครอบครัว ในเรื่องนี้ตนไม่อยากมาสร้างศัตรูกับใคร แต่ต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ซึ่งมั่นใจว่าคดีดังกล่าวเข้าเงื่อนไขเป็นคดีพิเศษ เช่น 1.เป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ 2. คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ 3.คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นคดีความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม 4.คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน

“นฤมล” ไฟเขียวส่งเรื่องดีเอสไอ รับ “ยางเถื่อน”เป็นคดีพิเศษ

นายเพิก กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันราคายางพาราตกตํ่า ล่าสุด กยท.ได้เตรียม 2 มาตรการ ใช้งบ 4.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และ 2. ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางโดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อพิจารณาต่อไป

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,039 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567