“บิ๊กโจ๊ก” ระทึกอีก ป.ป.ช.-บก.ปปป. เตรียมปัดฝุ่นคดีส่วยคาราโอเกะ

03 ธ.ค. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 11:32 น.

คดีส่วยคาราโอเกะไม่จบ ป.ป.ช. พิจารณาส่งต่อ บก.ปปป. หลังพบคำให้การชี้ชัด ‘บิ๊กโจ๊ก’ มีเอี่ยว ส่อเค้าความผิดตาม ม.157

จากกรณีที่พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ  ยื่นหนังสือต่อประธานป.ป.ช. ให้พิจารณาสำนวนกล่าวหาพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก กรณีเรียกรับส่วยร้านคาราโอเกะ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อครั้ง ดำรงตำแหน่ง ผกก.3 บก.ปคม. เมื่อปี 2553 ขึ้นมาใหม่ หลังมีมติตีตกไม่มีมูลความผิด

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะพงษ์ ได้ร้องเรียนต่อ กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ชุดที่มีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงกล่าวหาพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กรณีส่วยคาราโอเกะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สั่งยุติเรื่องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยังขอให้ บก.ปปป.แจ้ง ป.ป.ช. ขอรับสำนวนดังกล่าวกลับมาดำเนินคดีเองภายในอายุความที่เหลือ

นอกจากนั้น นายวีระ สมความคิด ได้แจ้งความกับบก.ปปป.กล่าวโทษพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ในความผิดตาม ม.157 เพราะพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เคยระบุว่า มีข้อมูลลับของตำรวจใหญ่ในสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ กระทำผิดกฎหมาย แต่พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กลับไม่ดำเนินการใดๆ และยื่นเรื่องให้บก.ปปป.ตรวจสอบคณะอนุฯ ไต่สวน ป.ป.ช. ที่เชื่อได้ว่า มีการช่วยเหลือ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ในคดีส่วยคาราโอเกะ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า เอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีส่วยคาราโอเกะ ในหน้าที่ 81 พบว่า “มีการโอนเงินเข้าบัญชี พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ (ยศในขณะนั้น) มีพยานมาให้การหลายคน หนึ่งในนั้นคือนายชินรัตน์ วัฒนกุล (เสี่ยแต๋ม) สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นายชินรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจขนส่ง มีความใกล้ชิดและมีการให้เงินกับนายตำรวจคนดังทุกเดือนเป็นประจำ บางเดือนหลักหมื่น บางเดือนหลักแสน และนายชินรัตน์ยังสนิทสนมนายธนากร แปลนดี (บุญเลี้ยง หรือจ่าดำ) เป็นอย่างมาก 

โดยนายบุญเลี้ยงเคยยืมเงินนายชินวัตน์ ไปปล่อยกู้จำนวนมาก โดยในปี53 นายชินรัตน์ได้ให้นายบุญเลี้ยงยืมเงินหนึ่งล้านบาทและยังฝากเงินห้าแสนบาทไปให้พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ไว้สำหรับซื้อสิ่งของต่างๆนำมาฝากเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใหญ่และห้างร้านที่ทำธุรกิจติดต่อกันมานาน
 
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า กรณีนี้ป.ป.ช.กำลังพิจารณาว่า จะดำเนินการต่อคำร้องของพ.ต.อ.กฤษณะพงษ์อย่างไร โดยยอมรับว่าข้อความที่นายชินรัตน์ให้การไว้กับป.ป.ช.นั้น มีข้อความที่น่าพิจารณาคือ มีการให้เงินกับพ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทุกเดือนเป็นประจำ บางเดือนหลักหมื่น บางเดือนหลักแสน นั้นมีสิ่งบ่งชี้ว่ามีการร่วมกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า คำให้การของนายชินรัตน์ นั้นน่าจะมีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. และประกาศคณะกรรมการป.ป.ช.เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินโดย ธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ดังนี้  ข้อ 4 “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายหรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
 
ข้อ 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ดังต่อไปนี้
 
(1) รับจากญาติได้แก่บุพการีผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ลุงป้า น้าอา คู่สมรส บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสบุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรมที่ได้ให้ โดยเสน่หาตามจำนวนที่เหมาะสมตามฐานานุรูป
 
(2) รับจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติตามโอกาสหรือตามขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น งานวันเกิด เทศกาล วันขึ้นปีใหม่หรือการมอบของขวญั แสดงความยินดีในวาระต่างๆ รับได้คร้ังละไม่เกิน 3,000 บาท
 
(3) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
 
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งอีกว่า  คำให้การของนายชินรัตน์นั้น  คือเงินที่มอบให้พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ที่เกินสามพันบาทจำนวนหลายครั้ง น่าพิจารณาว่าทำไมอนุฯไต่สวน ป.ป.ช. และกรรมการปปช.ที่พิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้พิจารณาข้อความดังกล่าวและชี้มูลความผิดตามที่นายชินรัตน์ให้การไว้ ซึ่งข้อความนั้น บ่งชี้ว่าเป็นความผิดทั้งผู้ให้คือนายชินรัตน์และผู้รับคือพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์   

กรณีนี้อนุฯไต่สวนป.ป.ช.ชุดนี้อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหลายมาตราตามที่พ.ต.อ.กฤษณะพงษ์ ระบุในคำร้องว่าร่วมช่วยเหลือผู้กระทำผิด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้สำนวนนี้คณะกรรรมการป.ป.ช.จะยุติเรื่องไปแล้วก็ตาม แต่หากมีการร้องเรียนให้ป.ป.ช.ส่งสำนวนนี้ให้บก.ปปป. พิจารณาใหม่ตามที่พ.ต.อ.กฤษณะพงษ์ ระบุในคำร้องก็สามารถกระทำได้ ตรงนี้ต้องพิจารณาว่าคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้จะพิจารณากรณีนี้อย่างไรภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนด

 ทั้งนี้ นายชินรัตน์ คือบุคคลที่พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ อ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านหลายหลังในซ.วิภาวดีรังสิต60 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่พนักงานสอบสวนเข้าตรวจค้นจับกุมตำรวจหลายนายซึ่งเป็นลูกน้องพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ว่า ร่วมกระทำผิดกับเว็บพนันมินนี่ในช่วง ก.ย.66