“ศาลยุติธรรม” ประกาศผลเลือกตั้ง “กรรมการบริหารศาลยุติธรรม” ชุดใหม่ 

03 ธ.ค. 2567 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 11:57 น.

“สำนักงานศาลยุติธรรม” ประกาศผลเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. ชุดใหม่ คัดเลือกผู้แทน 12 ท่านจากสามชั้นศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (3ธ.ค.67) สำนักงานศาลยุติธรรม มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ประจำปี 2567 และได้ดำเนินการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงแล้ว 

โดยมีนายไกรฤทธิ์ กอแสงเรือง เลขานุการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการตรวจนับคะแนน

สำหรับการเลือกตั้ง ก.บ.ศ. วันนี้ คณะอนุกรรมการตรวจนับคะแนนได้จัดการตรวจนับคะแนนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 7 อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อคัดเลือกผู้แทนจากศาลทั้งสามระดับ ชั้นละ 4 ท่าน รวมทั้งสิ้น 12 ท่าน

ศาลฎีกา

ในส่วนของกรรมการบริหารศาลยุติธรรมชั้นศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ ได้รับความไว้วางใจจากผู้พิพากษาทั่วประเทศด้วยคะแนนสูงสุด 2,609 คะแนน 
 

ตามมาด้วยนายจุมพล ชูวงษ์ ที่ได้รับคะแนน 2,318 คะแนน อันดับที่สามคือนายเริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์ ด้วยคะแนน 2,287 คะแนน และอันดับที่สี่คือนายอำนาจ โชติชะวารานนท์ ที่ได้รับคะแนน 1,931 คะแนน

ศาลอุทธรณ์

ในส่วนของกรรมการบริหารศาลยุติธรรมชั้นศาลอุทธรณ์ ผลปรากฏว่ามีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง คือ นางสาวสุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ด้วยคะแนน 2,200 คะแนน ตามมาด้วยนายสุวิชา สุขเกษมหทัย ที่ได้รับคะแนน 2,117 คะแนน อันดับที่สามคือนายสุรพล กล่อมจิตต์ ด้วยคะแนน 1,863 คะแนน และอันดับสุดท้ายคือนายวรวุฒิ ทวาทศิน ที่ได้รับคะแนน 1,723 คะแนน

ศาลชั้นต้น

ในส่วนของในส่วนของกรรมการบริหารศาลยุติธรรมในชั้นศาลชั้นต้น นายธนรัตน์ ทั่งทอง ได้รับคะแนนสูงสุดที่ 2,319 คะแนน อันดับสองคือนายนาวี สกุลวงศ์ธนา ที่ได้รับคะแนน 1,406 คะแนน ตามมาด้วยนายสถาพร วิสาพรหม ที่ได้รับคะแนน 1,371 คะแนน และนายชาติชาย กิติสารศักดิ์ ที่ได้รับคะแนน 1,344 คะแนน

ทำความรู้จัก คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม 

คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. ถือเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของศาลยุติธรรม ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย วางระเบียบ และกำกับดูแลการบริหารราชการของสำนักงานศาลยุติธรรม ตลอดจนการจัดทำงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการพัฒนาองค์กร

นอกจากกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 12 ท่านแล้ว ก.บ.ศ. ยังประกอบด้วยประธานศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน ก.บ.ศ. โดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านงบประมาณ การพัฒนาองค์กร หรือการบริหารจัดการ ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 4 ท่าน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี

การเลือกตั้งครั้งนี้ดำเนินการภายใต้ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการบริหารศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543