20 มกราคม 2025 วันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 2 ของนายโดนัล ทรัมป์ ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นไป ทรัมป์จะสามารถใช้อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯในการกำหนดทิศทาง และนโยบายของประเทศได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ทั่วโลกจับตานั่นก็คือ “นโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์” หรือสงคราม และความขัดแย้ง โดยเขาได้ประกาศว่า จะยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภายใน 24 ชั่วโมงผ่านการเจรจาข้อตกลง
รายการ “เข้าเรื่อง” สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ ถึงสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งหลังจากสหรัฐฯมีประธานาธิบดีคนใหม่ คือนายโดนัล ทรัมป์
สำหรับสิ่งที่ทรัมป์ประกาศว่า จะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภายใน 1 วันนั้นพล.ท.พงศกร ให้มุมมองว่า แม้วันรุ่งขึ้นหลังสาบานตน เกิดมีการตกลงว่าจะมีการหยุดยิง นั่นก็ถือว่าเกิดขึ้นแล้วภายใน 1วัน ส่วนหลังจากนั้นจะยิงกันใหม่ก็ถือเป็นอีกเรื่อง เพราะทรัมป์นั้นถือเป็นบุคคลที่คาดเดาได้ยาก
แต่วิเคราะห์ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2565 มีแนวโน้มที่จะยุติลงในปี 2568 ด้วยปัจจัยสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจภายในรัสเซียที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงถึง 21% ส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงัก ขณะที่การสูญเสียกำลังพลในสงครามที่คาดว่าจะถึง 1 ล้านนายภายในกรกฎาคม 2568 กำลังกลายเป็นแรงกดดันสำคัญ
ส่วนกรณีสหรัฐฯจะถอนตัวออกจากนาโตนั้น มองว่าอาจไม่ถึงขั้นถอนตัว แต่จะเป็นการวางมือจากนาโตโดยการลดงบประมาณลงจาก 4%ของจีดีพี อาจลดเหลือแค่3% ซึ่งประเทศยุโรปอาจต้องเพิ่มเงินงบประมาณเข้าไปจากเดิมเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้น
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย แม้จะดูเหมือนว่าจีนพยายามเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือรัสเซีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการเข้าไป "ครอบครอง" มากกว่า "ช่วยเหลือ" เนื่องจากจีนเองก็มีปัญหาเศรษฐกิจภายในที่ต้องจัดการ การเข้าไปลงทุนในรัสเซียจึงเป็นการหาผลประโยชน์จากสถานการณ์มากกว่า
ส่วนสถานการณ์ในตะวันออกกลางกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีซีเรียเป็นตัวแปรหลักที่จะกำหนดทิศทางของภูมิภาค หลังจากกลุ่มกบฏนิกายซุนนีสามารถยึดอำนาจได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในภูมิภาค กลุ่มกบฏซุนนีมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับซาอุดีอาระเบียและสันนิบาตอาหรับ ต่างจากรัฐบาลอัสซาดที่เป็นชีอะห์ซึ่งใกล้ชิดกับอิหร่านและอิรัก
ซีเรียจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างอิสราเอล เลบานอน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่รัสเซียได้ถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากซีเรีย แต่ยังขอรักษาฐานทัพ 2 แห่ง หากกลุ่มกบฏยอมให้รัสเซียคงอิทธิพลอยู่ อาจทำให้รัสเซียและอิหร่านยังสามารถส่งอาวุธให้กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ได้ ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคยังคงดำเนินต่อไป
การเปลี่ยนแปลงนี้อาจนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่ในภูมิภาค โดยซาอุดีอาระเบียและจอร์แดนอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับอิสราเอล ส่วนอิทธิพลของอิหร่านจะถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ของตนเอง กลุ่มฮูตีในเยเมนที่ไม่มีผู้สนับสนุนก็จะอ่อนกำลังลง
ดังนั้น หากกลุ่มกบฏในซีเรียสามารถต้านทานอิทธิพลของรัสเซียได้ โอกาสที่จะเกิดสันติภาพในตะวันออกกลางจะมีมากขึ้น แม้ว่าจะยังมีความตึงเครียดอยู่บ้าง แต่สถานการณ์โดยรวมในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
พล.ท.พงศกร กล่าวว่าการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับการเมืองและเศรษฐกิจโลก เมื่อทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าจะ "ปราบจีน" เป็นหนึ่งในนโยบายหลักในขณะที่จีนกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ ต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพยุงภาคธุรกิจในประเทศ
สำหรับประเทศไทย นี่อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย การดึงดูดการลงทุนที่ย้ายออกจากจีนเป็นโอกาสที่น่าสนใจ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกใช้เป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะอาจถูกขึ้นภาษีนำเข้าถึง 100% เช่นเดียวกับที่เม็กซิโกกำลังเผชิญ
ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับไทยคือการวางตัวเป็นกลางในลักษณะเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ แต่ต้องรักษาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ หากจะซื้ออาวุธก็ควรซื้อจากสหรัฐฯ เพื่อชดเชยที่สหรัฐฯก็ขาดดุลการค้ากับไทย เพื่อที่ว่าแม้ยังขาดดุลต่อแต่ขาดดุลน้อยลงแต่เรายังได้เงินจากสหรัฐฯมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ควรพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน โดยเน้นการเจรจาที่เข้มแข็งเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ลดการพึ่งพาจีนลงและกล้าตั้งกำแพงภาษีกับจีน ที่สำคัญไทยควรพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้แข็งแกร่งตามแบบอย่างของเยอรมนี ญี่ปุ่น และไต้หวัน แทนที่จะพึ่งพาธุรกิจขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว การวางตัวอย่างชาญฉลาดในเวทีระหว่างประเทศจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจ
ท้ายที่สุด การที่ไทยจะรักษาผลประโยชน์และเติบโตท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจได้นั้น จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางการเจรจาที่ทุกฝ่ายไว้วางใจ และมีนโยบายต่างประเทศที่สมดุลและยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว