ภูมิใจไทยรีแบรนด์สู่“พรรคสีน้ำเงิน”เดินสายกลาง เสียบทุกรัฐบาล

06 เม.ย. 2568 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2568 | 07:52 น.

“ภูมิใจไทย” รีแบรนด์สู่ “พรรคสีน้ำเงิน” เดินการเมืองยึดทางสายกลาง ตอบโจทย์ “อยู่ได้ทุกรัฐบาล-ทำงานได้กับทุกฝ่าย” ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนขั้วไปมากี่ครั้ง

KEY

POINTS

 

  • “ภูมิใจไทย ”รีแบรนด์สู่ “พรรคสีน้ำเงิน” เต็มตัว เดินการเมืองยึดทางสายกลาง 
  • ตอบโจทย์“อยู่ได้ทุกรัฐบาล-ทำงานได้กับทุกฝ่าย” ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนขั้วไปมากี่ครั้ง
  • ส่งสัญญาณถึงพรรคใหญ่ "ภูมิใจไทย" พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งในอนาคต ผ่านยุทธศาสตร์สัญลักษณ์ใหม่ 

การปรับโฉมพรรคภูมิใจไทยในวาระครบรอบ 16 ปี ด้วยการเปลี่ยนสีโลโก้พรรคเป็น “น้ำเงินล้วน” ไม่ใช่เพียงแค่การรีแบรนด์เชิงสัญลักษณ์ หากแต่สะท้อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นของพรรคนี้ ภายใต้บริบทการเมืองไทยที่ยังคงมีร่องรอยของความแตกแยกอยู่ไม่น้อย

ภูมิใจไทยเสียบได้ทุกรัฐบาล

การเลือก "สีน้ำเงิน" อย่างชัดเจน สื่อถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ต้องการยืนอยู่บนความมั่นคง เทิดทูนสถาบัน และยึดแนวทางของ "การเมืองสายกลาง" แตกต่างจากสภาพการเมืองไทยในอดีตที่แบ่งแยกกันตามสีเสื้อ

                                  ภูมิใจไทยรีแบรนด์สู่“พรรคสีน้ำเงิน”เดินสายกลาง เสียบทุกรัฐบาล

น้ำเงิน ไม่ใช่สีใหม่ แต่เป็น “สีที่นิ่งที่สุดในสมรภูมิการเมืองไทย” พรรคภูมิใจไทยจึงใช้เป็นจุดยืน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ “หนักแน่น สุขุม และไม่ฝักใฝ่ขั้วใด” และนั่นอาจเป็นคำตอบว่า ทำไมพรรคนี้จึง “อยู่ได้ทุกรัฐบาล” ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนขั้วไปมากี่ครั้ง

รีแบรนด์ = รีพอติชันนิ่ง

นอกจากเป็นการปรับภาพลักษณ์ภายนอก การเปลี่ยนโลโก้ยังเป็นการ “รีพอติชันนิ่ง” พรรคใหม่เอาใจประชาชน และนักการเมืองท้องถิ่น โดยยืนยันตัวตนว่า “ภูมิใจไทย” เป็นพรรคทางเลือกที่ “ไม่แบ่งข้าง” แต่ยึดหลัก “ทำงานได้กับทุกฝ่าย” ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา มากกว่าการพูดบนเวที

ในยุคที่ประชาชนเริ่มเบื่อความขัดแย้ง พรรคที่แสดงออกถึง “สันติภาพทางการเมือง” อาจได้เปรียบในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป

                                     ภูมิใจไทยรีแบรนด์สู่“พรรคสีน้ำเงิน”เดินสายกลาง เสียบทุกรัฐบาล

สิ่งที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ย้ำหลายครั้งคือ การเมืองของพรรคภูมิใจไทยจะยึดหลัก “เทิดทูนสถาบัน” และ “ไม่สร้างความขัดแย้ง” พร้อมประกาศชัดว่า จะไม่ปล่อยให้ “พรรคสีน้ำเงิน” กลายเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกแบบ “สงครามสีเสื้อ” อย่างในอดีต

นี่คือยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่อิงอยู่กับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ต้องการความสงบ มากกว่าการเคลื่อนไหวรุนแรง

ส่งสัญญาณถึงพรรคคู่แข่ง

การแสดงจุดยืน “สีน้ำเงินล้วน” ยังเป็นการประกาศนัยเชิงสัญลักษณ์ต่อพรรคการเมืองใหญ่ ที่ยึดพื้นที่ “ซ้าย-ขวา” ไว้อย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย (แดง) หรือ พรรคลูกผสมในฝ่ายขวา เช่น รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพราะ “ภูมิใจไทย” จะไม่เล่นเกมแบบเดิม แต่เลือกสร้างฐานเสียงแบบ “แนวราบ” ผ่านกลไกท้องถิ่นและภาคประชาชน

                             ภูมิใจไทยรีแบรนด์สู่“พรรคสีน้ำเงิน”เดินสายกลาง เสียบทุกรัฐบาล

ด้วยต้นทุนจาก สส. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเครือข่ายท้องถิ่นเข้มแข็ง พรรคนี้กำลังสร้างพลังใหม่ ที่ไม่ได้โตแบบวูบวาบ แต่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

“ภูมิใจไทย” กำลังวางตัวเองเป็นพรรคการเมืองสายกลาง หวังตอบโจทย์ประชาชนกลุ่มใหญ่ ที่ต้องการทางเลือกนอกเหนือจากการเมืองขั้วสุดโต่ง พร้อมวางยุทธศาสตร์ผ่านสัญลักษณ์ใหม่ เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งในอนาคต