รอดจากคดีแต่งตั้งบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ไปเมื่อ 4 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ล่าสุด (25 สิงหาคม) นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ "หมอเลี๊ยบ" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เดินขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกานักการเมือง)อีกครั้ง เพื่อฟังคำพิพากษาคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องฐานปฎิบัติหน้าที่มิชอบในฐานะอดีตเจ้ากระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
พร้อมด้วยนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เสี่ยงถูกครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายกิจการโทรคมนาคม
โดยศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาให้จำคุก นายสุรพงษ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 2-3 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้พิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2 หมื่นบาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจในการแก้ไขหรืออนุมัติสัญญาดังกล่าวโทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 5 ปี ซึ่งภายหลังคำพิพากษาของศาล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวหมอเลี๊ยบขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ศาลฎีกานักการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีแต่งตั้งบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนพ.สุรพงษ์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนเป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีแต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ หรือบอร์ดธปท.โดยมิชอบ
โดยศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้คำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่ภายหลังจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าวและยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง กระทั่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559