ท่ามกลางกระแสข่าวการซื้อตัว ส.ส. เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพิ่งเกิดขึ้นกับการเมืองไทย ปรากฎการณ์ "ดูด" ส.ส. เข้าพรรคไม่ใช่เรื่องใหม่และนับวันยิ่งทำกันแบบ "โจ๋งครึ่ม" เรียกได้ว่า no สน no แคร์ และที่น่าตกใจรูปแบบพัฒนาไปจนคาดไม่ถึง
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เจ้าของฉายา "มีดโกนอาบน้ำผึ้ง " ให้นิยามสภาพการเมืองไทยวันนี้ว่า เป็นยุค "ธุรกิจการเมือง" ในขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกการเมืองในยุคนี้ว่า "ธนกิจการเมือง" ที่มาของปัญหาคอร์รัปชันและเข้ามาเพื่อถอนทุนคืน วงจรอุบาทว์ที่ยังวนเวียนอยู่ในการเมืองไทย
เปิดวิธีซื้อตัว ส.ส. สู้ศึกเลือกตั้ง 2566
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ติดตามการเมืองมาอย่างยาวนานวิเคราะห์เรื่องปัญหาการซื้อตัว ส.ส. กับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยให้ข้อมูลบอกเล่าถึงปรากฎการณ์ ซื้อตัว ส.ส. ว่า การเลือกตั้งรอบนี้กับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มานั้น มีการพัฒนาก้าวล้ำไปจากเดิมมาก
แพลตเทิร์นเดิมที่คุ้นเคยหรือได้ยินกันมา ก็คือ ซื้อโดยกำหนดวงเงินแบบให้เปล่า หรือ แบบกินเปล่าไปเลย กล่าวคือ ตกลงกันเลยว่า จะให้เท่าไรซึ่ง "ตัวเลข" จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของ ส.ส. เป็นหลัก
ยกตัวอย่างเช่น กรณีซื้อตัวแบบหวังผล (ค่าตัว + ค่าใช้จ่าย) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส., ส.ส.หลายสมัย หรือ อดีต ส.ส. โดยจะมีการจัดลำดับชั้นในการเรียก อาทิ เกรด AA , เกรด A ซึ่งหมายถึง มีโอกาสได้รับเลือกตั้งสูง, เป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย หรือ เคยได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว เป็นต้น ซึ่งอาจดูจากข้อมูลฐานคะแนนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านั้นมาเป็นตัววัด
ยิ่งถ้ายังเป็น ส.ส.อยู่ ณ เวลานั้นจะยิ่งดี หรือ คนที่เมื่อลงสมัครแล้วได้รับการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ไม่มีสอบตก หรือ เป็น ส.ส.หลายสมัยติดต่อกัน ยิ่งถ้าเคยย้ายพรรคมาก่อนแล้วก็ยังได้รับเลือกตั้ง ไม่เคยแพ้ คุณสมบัติเหล่านี้ คือ เป็นบทพิสูจน์คุณภาพ เป็นตัวกำหนดระดับของ ส.ส. แหล่งข่าวรายนี้ กล่าว
ค่าตัว ส.ส. กลุ่มนี้จึงลดหลั่นกันไป ในการเลือกตั้งปี 2550 และ ปี 2554 นั้น ค่าตัวจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท ตัวเลขนี้รวมค่าใช้จ่ายที่ ส.ส.ต้องใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งต่าง ๆ ไว้แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พบว่า ส.ส.สอบตกเพราะไม่นำเงินไปใช้ในการหาเสียง จากที่คิดว่า หวังผลได้แต่กลับไม่ได้ผล
ดังนั้น เพื่อรับประกันในเรื่องนี้จึงมีการปรับรูปแบบใหม่ "ให้เปล่า" (เฉพาะค่าตัว)ไปเลย 30 ล้าน แล้วมีค่าอัดฉีดสำหรับการใช้จ่ายให้อีกก้อนในการหาเสียง (ตามระดับความหวัง) เช่น "ชุดเบสิก" คือ มีโอกาสได้ หรือ จัด"ชุดพิเศษ" ให้กรณีเมื่อดูแนวโน้มแล้วสูสีกับคู่แข่งขันก็จะจัดเสริมให้ไปอีกชุดเพื่อให้แซงคู่แข่ง เป็นต้น ซึ่งตัวเลขอาจจะไปจบลงที่ 50-60 ล้านบาทต่อคน
วันนี้คนที่ดีลก่อนจะใช้วิธีจับทำสัญญาเพื่อผูกมัด หรือ ใช้วิธียึดโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน เพื่อป้องกันเมื่อรับเงินไปแล้ว จะไม่ "เกียร์ว่าง" เป็นการป้องกันการย้ายเข้าพรรคคู่แข่งกรณีคู่แข่งอาจให้มากกว่า ทั้งยังรวมถึงกรณีลงแล้วไม่ได้แต่รับไปแล้ว 90% อาจจะมีการตกลงกันว่า ถ้าไม่ได้ต้องมีคืนบางส่วน เป็นต้น
ค่าตัว ส.ส. ปี 2566 ทะยาน 90 ล้านอัพ
ยิ่งน่าตกใจในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ค่าตัว ส.ส.ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 50 ล้านอัพ ขณะที่ในการเลือกตั้งรอบนี้ปี 2566 ค่าตัวทะยานขึ้นมาสูงถึง 90 ล้านบาท คิดเป็น 3 เท่าของค่าตัวสมัยการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 และปี 2554
ส่วนการต่อรองรูปแบบอื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่ในการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง นั่นก็คือ ซื้อให้หลบ(เพื่อไม่ให้ลงแข่ง)ให้ออกจากเกมการแข่งขัน เป็นการซื้อตัวบุคคลเพื่อให้ไปถอนตัวออกจากพรรคสังกัด เพื่อไม่ลงแข่งขัน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา นา อาทิ มีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น
รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นกรณีที่มีลักษณะก้ำกึ่ง ไม่มั่นใจว่า จะชนะหรือไม่ ต้องลุ้นผล ดังนั้น เพื่อตัดปัญหานี้จึงใช้วิธีซื้อตัวเพื่อเป็นรับประกันว่า คนของตัวเองจะชนะก็ใช้เงินให้คนนั้นหลบไป ไม่ต้องลงสมัครแข่งขันด้วย กลุ่มนี้จะมีค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท
เทรนด์ล่ามาแรง "ซื้อตัวแถมตำแหน่ง"
ก้าวล้ำมาอีกขั้นรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ พรรคเรียกเงิน เกิดขึ้นกับพรรคที่มีกระแสดี โมเดลนี้เกิดขึ้นหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้ามาด้วย
สิ่งที่ตามมา คือ ส.ส.ที่มีกระแส มีเสียงของตนเองอยู่ระดับหนึ่งจะวิ่งเข้าหาพรรคเหล่านี้เพื่อ "ซื้อที่" ให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า ตนจะได้เก้าอี้แน่ ๆ หรือ เมื่อลงพื้นที่ที่พรรคนั้นมีความแข็งแกร่ง ชนิดที่เรียกว่า "ส่งเสาไฟฟ้าก็ยังชนะ" คือ ส่ง ส.ส.คนไหนไปก็ชนะ จึงเกิดเหตุการณ์ในทำนองที่ว่า พรรคอาจเปลี่ยนตัวผู้สมัครกะทันหัน ทั้งๆที่ประกาศรายชื่อไปแล้วว่า จะส่งใครลง
รวมถึงกรณีที่ต้องการให้ได้ลำดับบัญชีรายชื่อที่ดีเพื่อการันตีว่า ตนจะได้เก้าอี้ ส.ส. เป็นต้น ซึ่งรูปแบบนี้จะมากันเป็นแพ็คเก็จ คือ ทั้งบัญชีรายชื่อและเขต กลุ่มนี้ต้องมีอย่างน้อย ๆ 30-50 ล้านบาท
เทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ "ซื้อตัวแถมตำแหน่ง" เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 คือ ซื้อบ้านใหญ่ หรือ ได้ ส.ส. ยกจังหวัด 5-7 คน ให้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี เป็นการซื้อด้วยตำแหน่ง การันตีด้วยตำแหน่งรัฐมนตรี นอกจากนี้รูปแบบที่ยังใช้และปรากฎอยู่เนือง ๆ นั่นก็คือ การใช้อำนาจรัฐเข้ามากดดัน เช่น กรณีมี "คดีการเมือง" ติดตัวอยู่ เป็นต้น