ชาติไทยพัฒนา-ปชป. ชี้ทางรอด เอสเอ็มอี ต้องแก้ปัญหาเงินทุน

15 ก.พ. 2566 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 12:55 น.

“ชาติไทยพัฒนา-ปชป.”แนะทางรอด เอสเอ็มอี ต้องแก้ปัญหาเงินทุนก่อน ดร.พิสิฐ ชูโมเดล”กองทุนวายุภักษ์” 5 แสนล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุนช่วยได้

สื่อในเครือเนชั่น เปิดเวที “อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน?” โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมเสนอนโยบายหัวข้อ “พรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี”

 

นายสันติ กีระนันท์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาเอสเอ็มอี แต่ละเภทไม่เหมือนกัน คำถามคือจะใช้นโยบายอะไรแก้ปัญหาเอสเอ็มอี อย่าเหมาะสม แต่นโยบายที่ดีต้องทำได้จริง แก้ปัญหาตรงจุด และไม่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นต่อไป 

ในการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ต้องอาศัย 4  ภาค คือภาคการเงิน ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต้องร่วมมือกัน บางเรื่องสามารถที่จะทำได้ทันทีโดยไม่ต้องยกร่างกฎหมายใหม่  ไม่ต้องแก้อะไรด้วยซ้ำ แต่เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ เช่นภาคการเงิน เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนยาก รัฐต้องมาช่วยเรื่องนโยบายภาษี เป็นต้น

ขณะที่ภาคราชการ กฎหมายยุ่งวุ่นวายไปหมด กระทรวง ทบวง กรม แย่งกันทำเรื่องเอสเอ็มอี แนะสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)อาจต้องเปลี่ยนบทบาท ส่วนจะแก้กฎหมายหรือไม่ไส้ในต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง

นายสันติ กีระนันท์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา


ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม  ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายสันติ ที่พูดถึงปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอี คือเรื่องเงินทุน  เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา เรามีปัญหาเรื่องเงินทุน ทำให้เงินในระบบหายไปพอๆกับงบประมาณแผ่นดินคือ 3 ล้านล้านบาท เพราะเราไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา จากที่เคยเข้ามาปีละ 40 ล้านคน เป็นเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาท

  เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมารายได้ก็หายไป คนที่ตกหนักคือ เอสเอ็มอี ขณะนี้วิกฤติกำลังเกิดขึ้น เพราะเอสเอ็มอีกำลังถูกเทกโอเวอร์ ถูกปลาใหญ่เอาไปกิน ถูกต่างชาติซื้อ เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ที่เงินทุน

ดร.พิสิฐ  กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะแก้ โดยแบงก์ชาติออกซอฟโลน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่ช่วยได้ไม่กี่แสนล้านบาท แม้กระทั่งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีเงินแค่หมื่นล้านบาท 
 

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม  ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์

ดร.พิสิฐ  กล่าวว่า พรรค ประชาธิปัตย์ จะนำเสนอกองทุนวายุภักษ์ 5 แสนล้านบาท โดยแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้ SME สามารถกู้เงินใหม่จากธนาคารได้ โดยกองทุนเป็นหุ้นส่วนกับ SME ถือหุ้นไม่เกิน 49% และให้เจ้าของซื้อหุ้นคืนใน 10 ปี
   
ประเทศเรามีเงินออมมหาศาล  เอาสินทรัพย์ของรัฐมาทำประโยชน์ และป้องกันไม่ให้แบงก์มีปัญหาเอ็นพีแอล ขณะที่เอสเอ็มอีมีเงินใหม่ ไม่ใช่การพักหนี้โดยไม่มีการตรวจสอบประวัติ


“สิ่งที่เราได้ยินในระบบการเลือกตั้งคือ ให้พักหนี้ หรือตรวจเครดิต ซี่งจะทำให้ระบบการเงินอ่อนแอลง และไม่เห็นหนทางจะมีเงินใหม่มาช่วยเอสเอ็มอีอย่างไร มีแต่จะรอวันตายหรือรอวันแบงก์ยึด ขณะที่แบงก์ก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะดูแลไม่ใช่การหาเงินกู้ใหม่ แต่ต้องหาทุนใหม่”ดร.พิสิฐ  กล่าว