วันนี้( 21 ก.พ.66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า กกต.ได้ให้ความเห็นชอบรูปแบบการกำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่พรรคการเมืองแสดงความเห็นด้วยมากที่สุด ในการหารือร่วมกันระหว่าง กกต. และ พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 66 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ
โดยในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ 180 วัน ก่อนวันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งนั้น สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละไม่เกิน 7 ล้านบาท พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.สแบบบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ไม่เกิน 163 ล้านบาท
กรณีเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเนื่องจากการ “ยุบสภา” หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภา หรือ วันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง
ผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1.9 ล้านบาท พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 44 ล้านบาท ทั้งนี้กรณีที่ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อผู้ใดของพรรคการเมือง ได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย
ส่วนกรณีมีการเลือกตั้งส.ส.ใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากเขตนั้นต้องดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคน ใช้จ่ายไม่เกิน 950,000 บาท แต่หากเป็นการเลือกตั้งในเขตที่ไม่ต้องมีการรับสมัครใหม่ให้ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตใช้จ่ายไม่เกิน 630,000 บาท
และหากเป็นกรณีกกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งส.ส.ในเขตเลือกตั้งใดใหม่ เนื่องจากไม่มีผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใด ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ใหม่ ตามมาตรา 126 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 950,000 บาท
สำหรับกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1.9 ล้านบาท