การประชุมประจำปี ของสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรโลก หรือ World Union of Wholesale Markets : WUWM ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสด ที่มีองค์กรสมาชิกอยู่ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ณ ประเทศไทย โดยความร่วมมือกับสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย(TAWMA) ซึ่งมีสมาชิกเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารสด 17 ตลาดทั่วประเทศ และตลาดไท ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2567 ณ ตลาดไท ตลาดกลางสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จ
การประชุม WUWM Bangkok 2024 ในครั้งนี้ มีคนในแวดวงตลาดค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดจากทั่วโลกเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 300 คน
ช่วง 3 วันของการจัดประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันความรู้ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นในวงการตลาดค้าส่ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงตลาดได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้การค้าขาย จากผู้ผลิต ผู้ค้า ไปถึงผู้บริโภคได้รับความสะดวก และมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนด้านต่าง ๆ ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายกสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย และผู้ถือหุ้นใหญ่ ตลาดไท กล่าวเปิดงาน ใจความสำคัญระบุว่า ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดของโลกในอนาคตจะขยายตัวมากขึ้น จากดีมานด์ที่มากขึ้นนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค อีกยังมีการลงทุนมหาศาลทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีศักยภาพแฝงอื่นๆ ที่สามารถขยายโอกาสได้ รวมทั้งมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนในการขยายตลาดกับประเทศคู่ค้า
ปัจจุบัน แม้ภาคการเกษตรของไทยจะมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากของไทย โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก อาทิ ข้าว น้ำตาล สับปะรด กลุ่มมะม่วง-มังคุด-ฝรั่ง กุ้ง น้ำมันปาล์ม และยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก ในสินค้าทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง และทุเรียน ทั้งนี้การส่งออกผลผลิตทางการเกษตร และการเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทยมีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกอาหารจากมูลค่าทั้งหมด
ในระดับอาเซียน ที่ประกอบด้วย 10 ประเทศ มีประชากรรวมมากกว่า 660 ล้านคน และมี GDP เกือบ 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับครึ่งหนึ่งของ GDP ของสหภาพยุโรป โดยอาเซียนเกือบทุกประเทศมีภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศ โดยไทย และอินโดนีเซีย มีการจ้างงานในภาคการเกษตร สัดส่วน 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด ส่วนกัมพูชา และเมียนมา ภาคการเกษตรมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของ GDP จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นขนาดและความสำคัญของภาคการเกษตรและอาหารสดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“มีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะทะลุ 9,000 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) เพื่อที่จะเป็นแหล่งอาหารให้กับประชากรได้อย่างเพียงพอ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ประมาณการว่าจะต้องเพิ่มการผลิตอาหารให้มากขึ้นประมาณ 70% ดังนั้นภาคส่วนการตลาดค้าส่งสินค้าทางการเกษตรและอาหารสดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการเป็นกลไกที่จะช่วยการผลิตของเกษตรกร การจัดสรรและส่งมอบผลผลิตต่างๆ ไปถึงประชากรโลกได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา และในปริมาณที่ถูกต้อง”
โดยประเทศไทยมีศักยภาพที่ดี พร้อมรองรับโอกาสดังกล่าว ด้วยเหตุผล ประการแรก ไทยสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรและอาหารหลาย ๆ อย่างได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยยกระดับการผลิต จะช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มผลกำไร ลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกร และจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดโลก
ประการที่สอง ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขายของภูมิภาคอาเซียน และมีความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับหลายประเทศนอกภูมิภาค และรัฐบาลไทยได้ลงทุนมหาศาลในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งทางราง สนามบินนานาชาติ ท่าเรือ ตลอดจนการที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจึงถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย
ขณะที่นายสเตฟาน ลายานี ประธานสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรโลก หรือ WUWM กล่าวว่า ได้เห็นการผสานใช้เทคโนโลยีในวงการตลาดค้าส่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมองว่าจะช่วยทำให้ตลาดค้าส่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสำหรับการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารสด ทั้งนี้หวังว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเดินหน้าไปในทิศทางตามเทรนด์ดังกล่าว
ส่วนนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในพิธีเปิดงาน ใจความสำคัญส่วนหนึ่งว่า ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางด้านสินค้าเกษตรและอาหารของภูมิภาค มีความจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เช่น สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง และระบบถนน เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการเดินหน้าของภาคการค้าส่ง และภาคธุรกิจอื่นๆ โดยกระทรวงการคลังที่ดูเรื่องระบบภาษี จะอำนวยความสะดวกเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการนำเสนอข้อมูล แบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์โดยผู้ค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดชั้นนำจากนานาประเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อปัจจุบันและอนาคตของวงการค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสด อาทิ การทรานสฟอร์มทางด้านดิจิทัลสำหรับตลาดค้าส่ง ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสในห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารได้อย่างมากมาย และการเดินหน้าขององค์กรสู่การเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน ที่จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียนที่จะเติบโตในตลาดโลก เป็นต้น