ทล.เปิดโมเดล สร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.3268 -ถนนเมืองใหม่บางพลี แก้อุบัติเหตุ

29 ต.ค. 2564 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 14:35 น.

ทล.เทงบ 650 ล้าน เร่งออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.3268 -ถนนเมืองใหม่บางพลี จ.สมุทรปราการ แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนรองรับศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน เล็งก่อสร้างปี 67

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า  ทล.เร่งดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3268  กับถนนเมืองใหม่บางพลี  วงเงินงบประมาณในการก่อสร้าง 650  ล้านบาท  ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง โดยแนวคิดการออกแบบเพื่อให้รถทางตรงของทางหลวงหมายเลข 3268 เคลื่อนตัวได้สะดวกและต่อเนื่อง และกำหนดให้มีสะพานข้ามแยกในแนวทางหลวงชนบท เส้นทาง สป.1006  พร้อมออกแบบทางลอดขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ ตามแนวทางหลวงหมายเลข 3268 โดยมีเขตทางกว้าง 30-40 เมตร จากช่วงจุดตัดทางแยกฯ ไปทางอำเภอบางบ่อ และไปทางอำเภอบางพลี และมีความยาวของช่วงที่เป็นทางลอดประมาณ 640 เมตร ความสูงของทางลอด 5.50 เมตร

 

 


ส่วนบริเวณทางแยกระดับพื้นออกแบบให้เป็นวงเวียน มีเส้นผ่าศูนย์กลางวงในยาวประมาณ 69 เมตร กำหนดให้มี   3 ช่องจราจร  โดยรองรับการจราจรบริเวณทางแยกและรองรับรถที่ต้องการเลี้ยวขวาและกลับรถได้โดยไม่มีสัญญาณไฟจราจร ทำให้การจราจรมีความต่อเนื่อง  ข้อดีของรูปแบบนี้คือการก่อสร้างทางลอดตามแนวทางหลวงหมายเลข 3268 จะทำให้รถวิ่งทางตรงเกิดการไหลของจราจรแบบอิสระจากการติดสัญญาณไฟจราจร และวงเวียนมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ 3 ช่องจราจร สามารถรองรับกระแสจราจร รวมถึงการรองรับรถขนาดใหญ่ ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยสามารถเลี้ยวขวาและกลับรถได้ง่ายขึ้น  ทั้งนี้โครงการฯจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ทั้งนี้เมื่อมีการเวนคืนที่ดินแล้วจะมีความพร้อมเพื่อเสนอของบประมาณดำเนินการก่อสร้างต่อไป คาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2567 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี 
ทล.เปิดโมเดล สร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.3268 -ถนนเมืองใหม่บางพลี แก้อุบัติเหตุ

นายสราวุธ  กล่าวต่อว่า  การออกแบบในครั้งนี้ให้สอดคล้องกับโครงการของกรมทางหลวงในบริเวณใกล้เคียงและโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยวิเคราะห์การจราจรในบริเวณทางแยกและโครงข่ายพร้อมทำการสำรวจและออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน ลดผลกระทบต่อชุมชน สภาพแวดล้อม วิธีการก่อสร้างและนำเสนอรูปแบบในลักษณะ Stage Construction สำหรับการรองรับปริมาณจราจรในอนาคต เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ด้านวิศวกรรมสอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

 

 

 

สำหรับแบบรูปตัดทางหลวงช่องทางลอดจะมีขนาด 4 ช่องจราจร โดยจะมีช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร ฉนวนกั้นกลางเป็นแบบ Concrete Barrier Type 2 โดยนำรูปแบบประเพณีรับบัวซึ่งเป็นตำนานแห่งสายน้ำมรดกล้ำค่าของชาวบางพลีและประติมากรรมดอกบัวมาตกแต่งบริเวณทางลอดและวงเวียนให้มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ไม่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่และเพื่อทำให้ทัศนียภาพดูสบายตา โดยปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นถนนทางแยกที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร โดยความกว้างเขตทางอยู่ระหว่าง 30 - 40 เมตร  ลักษณะผิวจราจรเป็นผิวคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร ประกอบกับถนนเมืองใหม่บางพลี กรมทางหลวงชนบทได้กำหนดให้มีการก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามทางแยก (Overpass) แล้ว  จึงกำหนดรูปแบบเป็นสะพานรูปแบบคานกล่องสำเร็จ (Segmental Box Girder) โดยมีเขตทาง 40 เมตร และมีจำนวน 4 ช่องจราจร ไป-กลับ

ทล.เปิดโมเดล สร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.3268 -ถนนเมืองใหม่บางพลี แก้อุบัติเหตุ

ทั้งนี้จังหวัดสมุทรปราการมีพื้นที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของเอเชียและเชื่อมต่อกับภาคอื่นๆ ของประเทศและในภูมิภาคอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีสถานที่ราชการสำคัญและเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์และเป็นเมืองอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้มีปริมาณการจราจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นทางแยกจุดตัดทางหลวงบนทางหลวงหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) กับถนนเมืองใหม่บางพลี (ทางหลวงชนบทหมายเลข สป.1006) จ.สมุทรปราการ เป็นทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้า มีนิคมอุตสาหกรรมบางพลีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง 

 

 


อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมบนโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญ  รองรับปริมาณการจราจรและเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมในอนาคต สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมทางอากาศของเอเชียส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการบริการอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคและเมืองพัฒนาภาคกลางให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำรวมทั้งเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐบาล