นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนหรือแนวนโยบาย Financial Landscapeที่ มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั้น
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีในภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เริ่มปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (กลุ่ม ธพ.) และให้ความสนใจกับการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets: DA) มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับการให้บริการทางการเงิน แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ
ธปท. จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่มธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่ม ธพ. ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม
สาระสำคัญคือ ธปท.จะยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้กลุ่ม ธพ. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งกลุ่ม ธพ. มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ FinTech มากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลมีแนวทางดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว
ส่วนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets: DA) นั้น แบ่งเป็น 2ชนิดได้แก่ 1.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตและมีหน่วยงานกำกับแล้ว เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) โบรกเกอร์ หรือ ดีลเลอร์ หรือ e-Commerce Platform เป็นต้น
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ DA ภายใต้เพดานที่ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน(นับรวมเงินกองทุนและเงินให้สินเชื่อธุรกิจ)
ทั้งนี้ การกำหนดเพดานลงทุนที่ 3%นั้น เป็นการดำเนินการอย่างรอบคอบอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการขยายการลงทุน ซึ่งช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ ๆ หรือมีราวกั้น ช่วยให้จัดสรรเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นต่อธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้กรณีเป็น “โฮลดิ้งคัมพานี”ธปท.อนุญาตให้ลงทุนเพดานเกิน 3%ได้ แต่ต้องมีเงินกองทุนรองรับส่วนที่เกินเต็มจำนวนเท่ากับโฮลดิ้งคัมพานีจะมีต้นทุนสูงขึ้น
“อนาคตถ้าแบงก์สามารถบริหารความเสี่ยงทั้ง 6มิติตามมาตรฐานธปท.จะปลดล็อคให้บริษัทที่แบงก์เข้าไปลงทุน เพราะเราอยากให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าดูจากธนาคารชั้นนำต่างรประเทศหรือธนาคารยักษ์ใหญ่มีการลงทุนเฉลี่ย 7,000ล้านบาทคิดเป็นอัตรา 0.4%ของเงินกองทุน ซึ่งสะท้อนการลงทุนที่ไม่พลีพลามฉะนั้นที่ธปท.อนุญาตแบงก์ไทยลงทุนก็สมเหตุสมผล”
กลุ่ม 2.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับ เช่น Metaverse และ DeFi ในส่วนนี้หากธนาคารพาณิชย์มีความสนใจยังกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนที่ 3%โดยธปท.จะพิจารณาให้เข้ามาทดสอบในกรอบ Sandbox ได้ในวงจำกัดเพื่อพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงต่อประเทศ และผลกระทบต่อระบบในภาพรวม ก่อนการให้บริการในวงกว้างต่อไป ส่วนกรณีที่ธนาคารเข้าไปปักหมดไว้ก่อนหน้า คงจะต้องมาคุยกัน ทั้งนี้ เนื่องจาก Metaverse และ DeFi นั้นธุรกิจมีความหลากหลาย ธปท.จะพิจารณาเป็นรายกรณี
“ ธปท.เชื่อว่าจะออกเกณฑ์เฮียริ่งและประกาศใช้กลางปี2565 ภายใต้ 4หลักการคือ เราไม่ปิดกั้นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีประโยชน์,เน้นพิทักษ์เงินฝาก ,คุ้มครองผู้บริโภคและทำให้มีแรงจูงใจให้แบงก์ยกระดับสินทรัพย์ดิจิทัล คือ แบงก์ทำได้แบบมีราวกั้นยืดหยุ่นกว่าในอดีต ซึ่งเป็นการยกระดับบริการทางการเงินโดยรวมรับประโยชน์จากการแข่งขันอย่างยั่งยืน”