การลงทุนและการบริหารเงิน ปี 2565 เต็มไปด้วยความท้าทายจากโจทย์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงอย่างมาก จนมักมีคำถามเกิดขึ้นบ่อย ๆ ว่าจะลงทุนและบริหารเงินอย่างไร ในสถานการณ์ที่ COVID-19 ยังคงระบาดต่อเนื่องและกินเวลานานกว่า 2 ปี อีกทั้งเชื้อยังกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและโลกชะลอตัว
ขณะที่สหรัฐฯ ฟื้นกำลังเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่ง ทำสถิติสูงสุดรอบ 40 ปี ที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ หรือ CPI ประจำเดือน ม.ค. พุ่งแตะที่ระดับ 7.5 % ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้นเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ
โดยตลาดคาดการณ์กันว่า จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ และจะขึ้นติดต่อกัน 4-5 ครั้ง! ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามคือ อัตราดอกเบี้ยสุดท้ายแล้วจะปรับขึ้นจากระดับ 0.50% ขึ้นไปอยู่ในระดับใด
สำหรับประเทศไทย เชื่อกันว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ปรับตัวขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% แต่การที่ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์ด้านพลังงานคาดว่าราคาน้ำมันดิบปีนี้จะแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็สูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนตัวลงในที่สุด จากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ
การ "จัดพอร์ตลงทุน” แบบไหนถึงจะมีความปลอดภัย ยังคงสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก และชนะเงินเฟ้อทะยานได้มาฟังมุมมองการจัดสรรด้านการเงินและการลงทุนของ "ชิน-รัฐพล วชิรเมฆากุล" นักวางแผนการเงิน CFP® Senior Financial Consultant และ
"โบว์-จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์" นักวางแผนการเงิน CFP® Senior Financial Consultant ผู้ร่วมก่อตั้ง Money Adwise (Wealth Management) บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนแบบครบวงจร ในรูปแบบ One-stop holistic planning service ที่ดูแลลูกค้าแบบครอบคลุมในทุกช่วงวัยของชีวิต ว่ามีกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตให้กับลูกค้าช่วงนี้อย่างไร?
"รัฐพล วชิรเมฆากุล" นักวางแผนการเงิน CFP® Senior Financial Consultant และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Money Adwise เปิดเผยว่า การบริหารเงินพอร์ตลงทุนภายใต้สถานการณ์ปัจจัยที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤตโควิด-19 เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสหรัฐพุ่งตัวขึ้น
การมีแผนการลงทุน โดยองค์รวมเป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นหัวใจที่จะกำหนดให้การลงทุนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีควบคู่กับผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับ รวมถึงมีแผนสำรองด้วย
ในกรณีที่แผนการเงินและการลงทุนไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วและแรงมาก การบริหารพอร์ตจะต้องมีความยืดหยุ่น และปรับให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ
นอกจากนี้มองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จคือ การจัด Asset allocation ที่เหมาะสม การมีระยะเวลาในการลงทุนที่นานมากพอด้วย ซึ่งจากการศึกษาของ Vanguard Group inc บลจ. ระดับโลกพบว่า การทำ Asset allocation จะส่งผลให้การลงทุนประสบความสำเร็จได้สูงถึง 91.1%
ขณะที่การคัดเลือกสินทรัพย์และการจับจังหวะเข้าลงทุนที่ถูกจังหวะ จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการลงทุน ประมาณ 8.9% ส่วนเรื่องระยะเวลาการลงทุนจากการศึกษาของ “เจพีมอร์แกน” พบว่าหากนักลงทุนสามารถอยู่ในการลงทุนได้นาน 10 ปี แทบจะปิดโอกาสการขาดทุนไปเลย
"รัฐพล" กล่าวต่อว่า การจัด Asset allocation ของบริษัทนั้น จะจำลองพอร์ตโฟลิโอในระดับความเสี่ยงต่าง ๆ และมีสัดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม และมีช่วงผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งแต่ละพอร์ตจะมีระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้เป็นเป้าหมายในการกำหนดว่าจะมี “Asset allocation” แบบไหน
เช่น กรณีที่ลูกค้ารับความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ พอร์ตลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 4.50% จะประกอบด้วย 1. ตราสารหนี้ระยะกลางสัดส่วน 30% 2. Global Bond Discretionary สัดส่วน 30% 3. ตราสารทุนและการลงทุนทางเลือก สัดส่วน 40%
ส่วนกรณีที่ลูกค้าสามารถรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลาง พอร์ตลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 6% จะประกอบด้วย
1. ตราสารหนี้ระยะกลางสัดส่วน 20%
2. Global Bond Discretionaryสัดส่วน 20%
3. ตราสารทุนและการลงทุนทางเลือก สัดส่วน 60%
สำหรับลูกค้าที่สามารถรับความเสี่ยงได้ระดับสูง พอร์ตลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 8% จะประกอบด้วย
1. การลงทุนทางเลือกสัดส่วน 10%
2. ตราสารทุนสัดส่วน 90%
ซึ่งทั้ง 3 พอร์ตนั้นในรายละเอียดจะต้องมีการกระจายการลงทุนที่ดีทั้งในระดับภูมิภาค business sector หรือ mega trends ด้วย รวมทั้งช่วงเวลานี้ที่หลาย ๆ สินทรัพย์ หลาย ๆ ตลาดย่อตัวลงมาก็ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ลงทุนแบบมีส่วนลด
อย่างไรก็ตามการจัดพอร์ตลักษณะนี้จะทำให้พอร์ตลูกค้าได้ผลตอบแทนคาดหวังที่นักลงทุนต้องการ และในระดับความเสี่ยงที่รับได้ ส่วนเงินเฟ้อนั้นเป็นศัตรูสำคัญทางการเงินที่ทำให้กำลังซื้อลดลง
การที่เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น เช่นหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 3% ก็จะทำให้เงินออมหรือเงินบำนาญด้อยค่าลงประมาณ 25% หรือเงิน 100 บาทจะมีค่าเหลือประมาณ 75 บาทภายในระยะเวลา 10 ปี
สำหรับการลงทุนในตราสารทุนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มองว่าการลงทุนในหุ้น growth อย่าง technology sector มีความน่าสนใจ เพราะเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตและสามารถปรับตัวไปกับวิกฤติต่าง ๆ ได้เร็ว
แต่ปีนี้ FED และ ECB กำลังจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายก็จะมีผลกระทบกับการตีมูลค่าของหุ้นกลุ่มนี้ได้ในระยะสั้นบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วยังน่าสนใจ
การลงทุนหุ้น defensive ที่มี growth ในตัวเองอย่าง healthcare sector ที่ในระยะยาวไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร คนเจ็บป่วยก็ยังต้องใช้บริการโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์อยู่ดี
นอกจากนี้จะต้องกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศด้วย เพราะตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ไทย เมื่อเทียบกับตลาดโลกแล้วเราเล็กมาก ๆ หรือเราเป็นเพียง open small market ที่เวลามีความผันผวนเกิดขึ้นในโลก
เช่น เงินเฟ้อ เราจะกระทบทันที การกระจายลงทุนไปต่างประเทศจะพยุงพอร์ตให้ได้ผลตอบแทนที่ดีได้ ซึ่งมองว่าการกระจายไปลงทุน global equity ตลาดหุ้นจีน และเวียดนามน่าสนใจ
ทั้งนี้การออกไป ลงทุนในต่างประเทศปัจจุบันทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องมีเงินจำนวนมาก ๆ ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมดี ๆ ซึ่งกองทุนรวมบ้านเราหลาย ๆ กองทุนมีนโยบายออกไปลงทุนในต่างประเทศ และในหลายสินทรัพย์
จึงเป็นโอกาสในการกระจายการลงทุนที่ดี ทำให้เราสามารถลงทุนในธุรกิจที่เป็น brand ระดับโลกได้ง่าย ๆ ซึ่งปัจจุบันคนไทยสนใจการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
หลังยุคโควิด-19 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนหลังยุคโควิด-19 เห็นได้ชัดเลยว่า นักลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ พอร์ตสามารถฟื้นตัวจากขาดทุนกลับมากำไรได้อย่างเร็ว ส่วนคนที่ไม่ค่อยมีการลงทุนในต่างประเทศพอเห็นแบบนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแนวคิดจัดสัดส่วนลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
"รัฐพล" ยอมรับว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 พอร์ตลงทุนของลูกค้าที่ดูแลก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนหนักจากช่วงเดือน มี.ค. 2563 ดัชนีลดลงไปกว่า 600 จุด ผลตอบแทนของลูกค้าลงไปติดลบ 22.97%
แต่ภายหลังจากที่บริษัทได้แนะนำลูกค้าปรับพอร์ต ซึ่งสุดท้ายผลตอบแทนก็กลับมาเป็นบวกได้ 13.03% ขณะที่ผลตอบแทนรวมของ SET TRI ติดลบ 5.24% ส่วนพอร์ตลูกค้า ระดับ Private Wealth ให้ผลตอบแทน 9% ตามแผน
"ผมมองว่าการวางแผนทางการเงินการลงทุนก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ที่จะวัดผลความสำเร็จในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ได้ ต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนจากการดูแลลูกค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ลูกค้ามีนิสัยและวินัยทางการเงินและมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หลายคนไม่เคยลงทุนเลยก็ได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น มุ่งมั่นในการลงทุน และศึกษาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจทางการเงินผิดพลาดก็น้อยลง" รัฐพลกล่าว
สำคัญในการลงทุน นักลงทุนทั่ว ๆ ไป มักต้องการลงทุนในจุดที่พีค (มีแต่ข่าวดี) ของสินทรัพย์ หรือตลาดนั้น ๆ และจะออกจากการลงทุนเมื่อถึงจุดต่ำสุด (มีข่าวร้าย) เป็นส่วนใหญ่ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ มีผลขาดทุนมากกว่าที่จะได้กำไรจากการลงทุน และทำให้เกิดความกลัวการลงทุน และไม่สามารถสะสมสินทรัพย์จากการลงทุนให้งอกเงยได้ในระยะยาว เพราะมัวแต่ in & out จากการลงทุนไปตามกระแส ซึ่งผมไม่อยากเห็นนักลงทุน ลงทุนแบบนี้ แต่จะต้องมีแผนการลงทุนโดยองค์รวม เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและทำให้ชีวิตมีความมั่นคง
ด้าน "โบว์-จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงิน CFP® Senior Financial Consultant ให้มุมมองเรื่องคนรุ่นใหม่สนใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าในแง่มุมของนักบริหารเงินและการลงทุนมอง Cryptocurrency ถือเป็น Asset Class ใหม่ ที่มีข้อมูลให้ศึกษาย้อนหลังไม่ได้ยาวนัก เทียบกับ Asset class อื่น ๆ ถึงแม้จะน่าสนใจ
และเป็นโอกาสในการลงทุน นักลงทุนก็ควรศึกษาหาข้อมูลเยอะ ๆ อย่าเชื่อเพียงแค่คนรู้จักลงทุนแล้วก็ลงทุนตาม ๆ กัน การเข้าไปอ่าน Whitepaper และทำความเข้าใจ tokenomics ของเหรียญนั้น ๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการลงทุน
อย่างไรก็ตามในการลงทุนนั้นการทำ Asset allocation เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการลงทุน ควรจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ระยะเวลา และระดับความเสี่ยงที่รับได้และเหมาะสมกับเป้าหมายนั้นๆ ถึงแม้คนรุ่นใหม่อายุยังน้อย แต่สำหรับเงินที่ต้องใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ
และรับความเสี่ยงสูงไม่ได้ ก็ไม่ควรลงทุนใน คริปโต เนื่องจากมีความผันผวนสูง สำหรับแผนการลงทุนระยะยาวที่รับความเสี่ยงสูงได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องลงทุนในคริปโต 100% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ และเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทมีจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกัน ควรเลือกให้เหมาะสม และกระจายความเสี่ยงให้ดี
“จากที่เห็นในข่าวช่วงที่ราคาคริปโตตกลงมามาก บางคนไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ต้องไปกู้ยืมหรือเป็นภาระคนอื่น จึงต้องเน้นย้ำว่า แผนการเงินไม่ได้มีแค่เรื่องการลงทุนอย่างเดียว การบริหารรายรับรายจ่าย เตรียมสภาพคล่องฉุกเฉิน บริหารหนี้สิน จัดการเรื่องป้องกันความเสี่ยงด้านชีวิต และสุขภาพ เรื่องเกษียณ และเรื่องภาษี ก็สำคัญเกี่ยวข้องกัน” จิณณรักษ์ กล่าว