จากกรณีสะพานกลับรถหน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรอยู่บนถนนพระราม 2 ช่องทางด่วน ขาเข้ากรุงเทพฯ ส่งผลทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายหลายคัน และทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 นั้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม)
และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตาม
รายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเสียหายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่า 1. รถยนต์เก๋ง ทะเบียน ชธ 6271 กรุงเทพมหานคร ถูกแผ่นปูนความยาวกว่า 10 เมตร น้ำหนักราว 5 ตัน หล่นลงมาทับทั้งคันจนรถขาดท่อน ผู้โดยสารเสียชีวิตติดอยู่ภายในรถยนต์ 1 ราย
ส่วนคนขับได้รับบาดเจ็บ 1 ราย โดยรถยนต์คันดังกล่าวทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน
กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ยังได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยให้ความคุ้มครองรับผิดต่อบุคคลภายนอกความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย
เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด ตาม พ.ร.บ. จำนวน 500,000 บาท รวม 10,000,000 บาท ต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก จำนวนเงิน 5,000,000 บาทต่อครั้ง และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลแนบท้าย กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ของผู้ขับขี่ จำนวน 100,000 บาท และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสารกรณีเสียชีวิต 100,000 บาทต่อคน
2. รถกระบะ ทะเบียน 3 ฒธ 5940 กรุงเทพมหานคร ด้านหน้ารถถูกแผ่นปูนทับ มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย โดยรถยนต์คันดังกล่าวทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
เริ่มคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2566 และทำประกันภัยภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2566
3. รถยนต์บรรทุกน้ำมัน ทะเบียน 70-9316 พระนครศรีอยุธยา ทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2565
และทำประกันภัยภาคสมัครใจ ไว้กับบริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยให้ความคุ้มครองรับผิดต่อบุคลภายนอกความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด ตาม พ.ร.บ. จำนวน 500,000 บาท รวม 10,000,000 บาท ต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ต่อครั้ง
และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลแนบท้ายกรณีเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ของผู้ขับขี่ จำนวน 100,000 บาท และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสารกรณีค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน
4. คนงานก่อสร้างสะพานดังกล่าว เสียชีวิต 1 ราย โดยทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 23 ธันวาคม 2564 สิ้นสุดวันคุ้มครองวันที่ 22 ธันวาคม 2565
โดยความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 100,000 บาท และการรักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งจำนวน 5,000 บาท สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรสาคร ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่
สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
“ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว