“เงินบาทผันผวน แบงก์ชาติทำอะไร”
วรพร ทวีทรัพย์ไพบูลย์ และพัชรภรณ์ โชคชัยเสรี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเร็วไม่ว่าจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า ก็มักมีเสียงสอบถามจากผู้นำเข้าส่งออกว่าแบงก์ชาติทำอะไรอยู่ ดูแลค่าเงินหรือเปล่า
เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าแบงก์ชาติมีหน้าที่ “ดูแลค่าเงินบาท” ให้มันนิ่งๆ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเราเปลี่ยนเป็น managed float แล้วหลังปี 1997 (ก่อนหน้านั้น เป็นแบบตรึงค่าเงินไว้กับตระกร้าสกุลเงินคู่ค้าสำคัญหรือ basket fix) ค่าเงินบาทจึงสามารถเคลื่อนไหวไปตามแรงซื้อแรงขายหรือที่เรียกว่ากลไกตลาด และ
แบงก์ชาติจะ “ดูแล” เมื่อเกิดความผันผวนสูงผิดปกติ ที่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น โดยการ “ดูแล” ของแบงก์ชาติเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวและทำได้เพียงช่วงสั้นๆ เพราะการฝืนกระแสตลาดจะเป็นการสะสมความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาในระยะยาวเช่นกัน
ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรับมือเรื่องค่าเงินอย่างไร เมื่อแบงก์ชาติช่วยได้เพียงบางจังหวะและในระยะสั้นเท่านั้น ในขณะที่ภาวะค่าเงินบาทจะมีโอกาสผันผวนขึ้นอีกในอนาคต ตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่แน่นอน ซับซ้อน ยากต่อการคาดเดา
คำตอบคงไม่พ้น “การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายเครื่องมือด้วยกัน เช่น สัญญา forward จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลุ้นว่าเมื่อแปลงรายได้หรือรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นบาท แล้วจะได้เงินบาทเท่าไร
เพราะได้จองราคาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว หรือการทำ netting/matching รายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการหักกลบรายรับรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศกันไป เป็นต้น
เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการ lock รายได้ รายจ่าย (ต้นทุน) ที่เป็นเงินบาทได้ จึงหมดห่วงที่จะต้องลุ้นว่าสุดท้ายรายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศนั้นจะแปลงเป็นบาทได้เท่าไร และจะมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ เพราะค่าเงินเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา
การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเสมือน “วัคซีน” ที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SMEs เพราะความผันผวนของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระเทือนต่อฐานะของธุรกิจได้ค่อนข้างมาก
แบงก์ชาติได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ “เข้าใจ” ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสนับสนุนให้ “ใช้ได้” มาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2017 เดี๋ยววันนี้เราจะมารีวิว ดูว่าแบงก์ชาติได้ทำอะไรบ้าง เห็นผลเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
สารพันโครงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เข้าใจง่ายสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
โดยในส่วนแรก การสร้างความ“เข้าใจ” แบงก์ชาติเน้นให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการเข้าพบผู้ประกอบการ การจัดสัมมนา การจัดทำคู่มือ hedging infographic ต่างๆ การเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์
หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าเว็บไซต์แบงก์ชาติ (www.bot.or.th) มีข้อมูลที่เป็น ประโยชน์รอท่านอยู่ ซึ่งรวมถึงคู่มือ “ธุรกิจไทย ก้าวไกล สบายใจเรื่องค่าเงิน” ที่รวบรวมข้อมูลที่เป็น ประโยชน์เกี่ยวกับเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้อย่างครบถ้วนสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม
ในส่วนที่สอง การทำให้ “ใช้ได้” คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งมีโครงการเด่น ๆ เช่น
ผลจากการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมาต่อเนื่อง
จากที่แบงก์ชาติได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจุบันก็เริ่มเห็นผลมากขึ้นในหลายด้าน ทั้งผู้ประกอบการไทยรู้จักคุ้นเคยกับการใช้บัญชี FCD มากขึ้น ดูได้จากสัดส่วนการใช้บัญชี FCD ช่วงปี 2018 ถึงเดือนมิถุนายน 2022 ที่มีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้นในแต่ละปี (รูปที่ 1)
ขณะเดียวกันต้นทุนการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงของ SMEsก็ลดลง สะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของส่วนต่างของ forward point ที่ระยะ 3 เดือนที่ธนาคารคิดจากผู้ส่งออก
เทียบกับที่ธนาคารทำในตลาดเงินตราต่างประเทศ (Interbank) ของช่วงปี 2017 กับช่วงปี 2021 ถึงเดือนมีนาคม 2022 (รูปที่ 2) พบว่า ส่วนต่าง forward point ของ SMEs ปรับลดลงมาอยู่ใกล้เคียงกับของผู้ประกอบการรายใหญ่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของแบงก์ชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างตลาดเป็นสำคัญ
ทั้งจากการเพิ่มผู้เล่นผ่านโครงการ NRQC ที่ทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินตราต่างประเทศดีขึ้น และจากการเพิ่มการแข่งขันระหว่างธนาคาร ผ่านการเผยแพร่ข้อมูล forward point บนหน้าเว็บไซต์ของแบงก์ชาติเอง ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลในการต่อรองมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก สามารถเข้าถึงธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น และมีจำนวนเยอะขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต (รูปที่ 3) ซึ่งผลจากการทำนโยบายเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะบอกได้ว่า นโยบายที่ทำนั้นมาถูกทาง สามารถช่วยผู้ประกอบการไทยได้ และควรค่าแก่การทำต่อไป
บทส่งท้าย
ความพยายามในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดูแลตัวเองเรื่องค่าเงิน ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการสนใจป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กยังมีสัดส่วนการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่น้อยกว่าเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะอยากมีโอกาสได้กำไรเพิ่มหากคาดการณ์ค่าเงินบาทถูกทาง ติดปัญหาการเข้าถึงธนาคาร หรือเชื่อว่าแบงก์ชาติคอยดูแลค่าเงินบาทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นโจทย์ที่แบงก์ชาติต้องหาทาง crack ต่อไป ควบคู่ไปกับสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อปรับพฤติกรรมและสร้างวินัยในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
สุดท้ายนี้ หากเราเปรียบพิษภัยจากค่าเงินบาทเป็นเหมือนโควิด 19 การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเสมือนวัคซีนป้องกันโรค ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากกว่าคนที่ไม่ฉีดวัคซีนเลย ในระยะต่อไปคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องอยู่กับความผันผวนที่สูงขึ้นและนานขึ้น เปรียบเหมือนโรคที่พัฒนาสายพันธุ์ให้แกร่งขึ้น เสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากหน่วยเศรษฐกิจแต่ละหน่วยยังไม่แข็งแรง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนโดยเฉพาะผู้ประกอบการได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองห่างไกลจากผลกระทบค่าเงิน ด้วยการรับวัคซีนการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกันเสียแต่วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแบบมวลรวมให้แก่เศรษฐกิจไทยสืบไป
-------------------------------------
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.