หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขายไอเดียให้เอกลงทุนซื้อหนี้ทั้งหมดออกจากธนาคารโดยไม่ต้องใช้เงินรัฐสักบาทหนึ่ง แล้วให้ประชาชนค่อยๆผ่อนแล้วไม่ต้องชำระเต็มจำนวนแล้วให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ยกออกจากเครดิตบูโรให้หมด ให้เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่อน ทำมาหากินใหม่นั้น
“สุรพล โอภาสเสถียร”ผู้จัดการใหญ่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)เปิดไส้ในหนี้เสีย 1.22 ล้านล้านบาทรวมทุกประเภทสินเชื่อ 9.5ล้านบัญชี อีก 5.8แสนล้านบาท 1.9ล้านบัญชีเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย ชี้ปัญหาระดับ “วิกฤติ”แม้จะปรับโครงสร้างหนี้เสีย 1ล้านล้านบาท และ อดีต รมว.คลัง “กรณ์ จาติกวณิช” แนะหาทางออกที่มีหลักอธิบายได้ ไม่เป็นประชานิยม (เกินไป) และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับกล่มทุนกลุ่มใดพร้อมเสนอสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ
เมื่อคืนวันที่ 19 มี.ค.2568 “สุรพล โอภาสเสถียร Surapol Opasstien” โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
ท่ามกลางบทสนทนาเกี่ยวกับการซื้อๆขายๆสิทธิเรียกร้องหรือที่เรียกว่าหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้เก่าไปยังเจ้าหนี้ใหม่(ถ้าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น) ผมขอดึงกลับมาที่สถานะของสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ เดือนมกราคม 2568
ภาพแรก เป็นภาพที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยป๋วย ซึ่งมีนักวิจัยที่เก่งมากๆนั้นได้นำข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนจากเครดิตบูโรจำนวนกว่า 27ล้านลูกหนี้ ไปแยกแยะสุขภาพทางการเงินจากภาระหนี้สินแล้วนำไปนำเสนอในงานสัมนาวิชาการ ของธนาคารกลางปีที่แล้ว ข้อมูลมันบอกว่า ในระบบการเงินของเราเวลานี้มีคนที่มีสุขภาพทางการเงินในระดับดี ซึ่งน่าจะพอยื่นกู้ได้เพียง 25% ที่เหลือก็ดูจะมีเงื่อนไขที่ดูจะยากในการได้รับอนุมัติตามมาตรฐานสินเชื่อในปัจจุบันที่เข้มถึงเข้มมาก
ตามมาด้วยภาพที่สองซึ่งเป็นภาพใหญ่ของสินเชื่อในระบบที่มีการส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโรทุกเดือน ตัวเลขคือ 13.6ล้านล้านบาท ถ้าบวกเพิ่มด้วยหนี้ที่สหกรณ์ออมปล่อยกู้สมาชิกและกยศ.และอื่นๆก็จะไปอยู่ที่ 16.3ล้านล้านบาทที่เราเรียกว่าหนี้ครัวเรือนนั่นเอง
การเติบโตของหนี้ของบุคคลธรรมดาในระบบเท่ากับ -0.5%yoy หมายถึงสินเชื่อรายย่อยมันแทบไม่ขยับ เราจึงเห็นการบ่นทั่วแผ่นดินว่ากู้ไม่ได้ กู้ไม่ผ่าน อัตราการปฎิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง หลายท่านคงเห็นด้วยกับผม ไปดูรายงานในหลายที่หลายแห่งก็พูดถึงการหดตัวของสินเชื่อรายย่อย, SMEs.เป็นต้น
เจาะลงไปในไส้ในของหนี้ของนาย-ก.นาย-ข.จะพบว่า 1.22 ล้านล้านบาทเป็นหนี้เสีย NPLs คิดเป็นจำนวนทุกประเภทสินเชื่อ 9.5ล้านบัญชีครับ 5.8แสนล้านบาทเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย,หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ SM.จำนวน 1.9ล้านบัญชี
หนี้เสียไปแล้วจากนั้นนำมาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือก็คือหนี้ NPLs. เอามาทำ TDR.กลายเป็นหนี้ปรับโครงสร้างอีก 1ล้านล้านบาทคิดเป็น 3.7ล้านบัญชี
ต่อมาคือหนี้ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่เกิน 90วันซึ่งมีการรีบเร่งเอามาทำการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือทำ DR. เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ เริ่มเก็บข้อมูลเดือนเมษายน 2567 ตอนนี้ยอดสะสมเท่ากับ 9.2แสนล้านบาทจำนวน 1.7ล้านบัญชี
ด้วยตัวเลขหนี้ที่มีลักษณะต่างๆข้างต้น ด้วยจำนวนมูลหนี้เป็นบาท ด้วยจำนวนที่นับเป็นบัญชีแล้ว เรามีปัญหาระดับที่อาจเรียกว่า "วิกฤติ"ได้
การฟื้นตัวของรายได้ไม่มากพอ ไม่ทั่วถึง ยังมาไม่เต็มที่และไม่เหมือนเดิม ประกอบกับคนที่พยายามจะขอกู้ติดกำแพงดังนี้
-ชนกำแพงอายุ เพราะถ้าจะต้องผ่อนเกินอายุ 60,65ปี ใครเขาจะให้กู้
-ชนกำแพงรายได้ เพราะมันมีข้อกำหนดเรื่อง Debt to income, หนี้ต่อรายได้ ว่าเต็มศักยภาพในการหารายได้มาจ่ายหนี้ถ้าจะก่อเพิ่มได้มั้ย
-ชนกำแพงสถานะทางเครดิตคือ เป็นคนเคยค้างชำระมั้ย เป็นคนที่กำลังค้างอยู่มั้ย เป็นหนี้เสียมั้ย เคยเป็นหนี้ปรับโครงสร้างมั้ย สารพัดในคุณลักษณะครับ อย่างที่กล่าวข้างต้นเรามีคนสุขภาพทางการเงินดี 25% หรือประมาณ 5ล้านคน ซึ่งหลายคนไม่มีความจำเป็นต้องกู้
ภาระหนี้สินกองเป็นภูเขาหลังจากเจอหลุมรายได้ มันฉุดกระชากเศรษฐกิจ, เซาะกร่อนบ่อนทำลายรากฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรการที่กำลังแก้อยู่ไม่ว่า คุณสู้ เราช่วย จ่ายตรง คงทรัพย์ ปิดจ่ายจบ หรือที่กำลังวิวาทะฝุ่นตลบ หากทางใดทางหนึ่ง หรือทางหนึ่งทางใดจะทะลุปัญหานี้
นอกเหนือจากออกมาพูดเก๋ไก๋ ว่าเป็นเรื่องโครงสร้างแต่ไม่บอกวิธีแก้ชัดๆ แล้วหล่ะก็ เราควรใจกว้างๆ ใจร่มๆ เปิดรับฟังวิธีการ เราควรสู้กับเรื่อง ไม่ใช่สู้กับคนให้มีเรื่อง ต้องคิดบวก ไม่ใช่พร้อมบวก บ้านเมืองมันถึงจะวิวัฒน์ ถ้าติไปทุกเรื่องมันก็วิบัติ
“ กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตนักการเมืองและวาณิชธนากร ปัจจุบันผู้สนับสนุนทุกความคิดและการกระทำที่สร้างสรรค์ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวเรื่อง”ซื้อหนี้? ” โดยระบุว่า พูดเรื่องช่วยคนติดหนี้ทีไร มักจะมีดราม่าทุกครั้ง การแสดงความเห็นหลากหลายเกิดขึ้นทันที บางครั้งก็เพราะเข้าใจผิดจากการสื่อสารที่ไม่เคลียร์ ผมเองเคยมีปัญหานี้กับเรื่องแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมาก่อน ข้อเสนอการซื้อหนี้ครั้งนี้ก็ไม่ต่าง
การช่วยคนที่เป็นหนี้ให้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นเรื่องที่ผมเห็นดีด้วยอย่างมาก จึงอยากชวนทุกคนให้ช่วยกันคิดและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อดีตนายกฯ กำลังเสนอ และหาทางออกที่มีหลักอธิบายได้ ไม่เป็นประชานิยม (เกินไป) และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับกล่มทุนกลุ่มใด
โดยสรุป ผมว่าเรื่องการโยกหนี้จากบัญชีธนาคารไปอยู่ในบัญชีรัฐทำได้ครับ และหากทำถูกวิธีก็เป็นเรื่องที่ควรทำด้วย ส่วนอดีตนายกฯ จะทำแบบที่ผมคิดหรือไม่ผมไม่แน่ใจ ผมขอลองเสนอวิธีของผมแล้วกัน (ไม่ได้คิดเองทั้งหมด แต่คุยกับเพื่อนร่วมคิดหลายคน)
อันดับแรก : 2 อย่างที่ ’ไม่ควรทำ‘
1. ไม่ควรซื้อหนี้เสียทั้งหมด - เพราะต้องใช้เงินเยอะไป และ moral hazard มากเกินไป
2. ไม่ควรเอาผู้บริหารหนี้เอกชนมาเกี่ยวข้อง - เพราะจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้องกับการใช้เงินรัฐ
คราวนี้สิ่งที่ควรทำ
1. หนี้เสียในระบบบูโรตอนนี้มี ทั้งหมด 1.22 ล้านล้านบาท เป็นของลูกหนี้ 9.5 ล้านบัญชี รวม 5.4 ล้านคน - อย่างที่บอก เราไม่ควรซื้อหนี้ทั้งหมดนี้
2. รัฐควรขีดเส้นการช่วยเหลือที่ลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ซึ่งจะครอบคลุม 3.5 ล้านคน หรือ 65% ของลูกหนี้เสียทั้งหมด!
3. ตามนี้ วงเงินหนี้เสียรวมที่รัฐจะดูแลจะเหลือเพียงประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือ 10% ของหนี้เสียโดยรวม
4. พูดง่ายๆ คือเราช่วยคนเล็กคนน้อยเท่านั้น ขาใหญ่มีวิธีอื่นที่ช่วยได้ เดี๋ยวค่อยว่ากัน
5. แหล่งที่มาของเงินคือ เราสามารถใช้เงินเหลือจาก FIDF ได้ เพราะรัฐได้มีมาตรการลดภาระการจ่ายเข้ากองทุนโดยธนาคารพานิชย์ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เท่ากับปีละ 70,000 ล้าน
6. รัฐควรใช้ AMC ของรัฐที่มีอยู่แล้วคือ SAM (กำกับดูแลโดยแบงค์ชาติ) ซื้อหนี้ส่วนนี้ออกมาจากธนาคารพานิชย์ ราคาตามราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-7% ของวงเงินหนี้
7. ส่วนนี้จะเป็นกำไรของธนาคารพาณิชย์เพราะทุกธนาคารได้สำรองหนี้เสียไว้เต็ม 100% แล้วตามเงื่อนไขแบงก์ชาติ
.8. หาก SAM ซื้อหนี้ตามราคานี้ วงเงินที่ต้องใช้จริงคือไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท
.9. จากนั้น SAM ควรตั้งเงื่อนไขให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในราคาตีซัก 10-15% ของหนี้เดิม แลกกับการเคลียร์ประวัติในเครดิตบูโร - ลูกหนี้จะเหมือนได้เกิดใหม่ทันที กำไร (หากมี) ปันส่วนกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์บางส่วนได้
.10. ทั้งหมดนี้ต้องมีแบงก์ชาติเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อความเชื่อมั่น และเพราะมีการใช้หน่วยงานในสังกัด
ด้วยวิธีนี้ รัฐไม่ได้ใช้เงินภาษี (จริงๆก็คือใช้เงินของธนาคารพาณิย์ที่จ่ายให้ FIDF นั่นแหละ) และจำนวนลูกหนี้ที่ติดบูโรในกลุ่มที่เปราะบางที่สุดได้ประโยชน์ถึง 3 ล้านกว่าคน
ข้อเสียคืออะไร?
1. ประเด็น moral hazard - การช่วยทุกกรณีมี moral hazard แต่กรณีนี้ผมได้เสนอให้ช่วยลูกหนี้รายเล็กที่สุดเท่านั้น
2. ความเสี่ยงต่อกองทุนฟื้นฟู - อันนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่ซื้อหนี้มาจากธนาคารพาณิย์ แต่หากซื้อที่ไม่เกิน 5-7% ผมว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้
3. ลูกหนี้อาจจะยังไม่พ้นบ่วงหนี้ เพราะหากเป็นหนี้เสียกับธนาคารพาณิชย์อยู่ ผมมั่นใจว่าคงจะมีหนี้นอกระบบอยู่ด้วยอีกไม่มากก็น้อย