“กรมส่งเสริมสหกรณ์” ทำงานเชิงรุก เชื่อมตลาดช่วยเกษตรกร สู้วิกฤตโควิด

31 ส.ค. 2565 | 02:56 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 09:58 น.

“กรมส่งเสริมสหกรณ์” ทำงานเชิงรุก เชื่อมตลาดช่วยเกษตรกร สู้วิกฤตโควิด

“อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์” โชว์วิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุก สนองนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด เกษตรกรไม่มีที่ขาย ราคาตกต่ำ ผลพวงจากโควิด-19 ส่งเสริมเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนแรงงาน ตัวช่วยเกษตรกรลดต้นทุน ลดใช้สารเคมี ช่วยสภาพแวดล้อม สู่สุขภาพเกษตรยั่งยืน ส่งผลดีภาพรวมสหกรณ์เข้มแข็ง
 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  เผยแผนนโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์รับผิดชอบตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางตำแหน่งของกรมส่งเสริมสหกรณ์ไว้ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นหน่วยงานในเรื่องของการทำการตลาด ของกระทรวง ในส่วนตรงนี้ก็ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงที่บอกว่าใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต โดยหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงจะมีกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ เราก็บูรณาการร่วมกับหน่วยงานเหล่านี้ในเรื่องของการวางแผนการผลิตเพื่อให้ตรงกับการตลาด ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เองดำเนินการผ่านสถาบันเกษตรกร ก็คือ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมในเรื่องจัดหาตลาดก่อนเพื่อให้กลุ่มของสมาชิกสหกรณ์ได้ผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
 

“ในส่วนตรงนี้เราได้รับโครงการมาเพี่อที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องของผลกระทบโควิด-19  ทำให้การจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรมีปัญหาจึงได้ของรับงบประมาณจากทางรัฐบาลมาทำในเรื่องการผลิต การแปรรูป การรวบรวมและการจัดจำหน่ายโดยเราสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์การตลาดให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ทั่วประเทศที่จะเป็นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ”

นายวิศิษฐ์  กล่าวว่า ในเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆให้มาก็จะมีหลายอย่าง จะแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น เรื่องข้าว  อาทิ โรงสี ลานตาก  โรงคลุม โรงอบลดความชื้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สหกรณ์เก็บชะลอข้าวได้รวมถึงแปรรูป ปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งขายตลาดได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพวกยางพารา หรือกลุ่มสหกรณ์กลุ่มพวกเลี้ยงโคนม และมีกลุ่มอุปกรณ์การตลาดที่จะไปสนับสนุนให้กลุ่มผู้เลี้ยงโคนม และกลุ่มผุ้เลี้ยงโคเนื้อ แปรรูปเนื้อต่างๆ ที่จะทำให้การตลาดสหกรณ์ดีขึ้น
 

“ในสหกรณ์ที่เราสนับสนุนไปมีประมาณ 240 แห่งทั่วประเทศ อุปกรณ์กว่า 400 อุปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีที่สนับสนุนนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เรื่องการลดใช้สารเคมีในการทำการเกษตร สนับสนุนในเรื่องลดไถนา และเครื่องตัดหญ้า ซึ่งจะเป็นการลดการใช้สารเคมีในไร่นาในสวนเกษตรกร ใช้วิธีการไถกลบ ทำให้ในเรื่องสภาพแวดล้อมดีขึ้นด้วย รวมทั้งสุขภาพพี่น้องเกษตรกรก็ดีขึ้นด้วย”

นโยบายดังกล่าวเริ่มต้นจากตัวสมาชิกสหกรณ์ เป็นเกษตรกรก่อนจากผลกระทบในเรื่องโควิดทำให้การจำหน่ายของมีปัญหาการผลิต การปลูก ไม่ว่าจะพืชและสัตว์ส่งออก และขาย ไม่ได้ในช่วงนั้น เราก็ทำโครงการนี้ใช้ในเรื่องการตลาดนำการผลิตไปส่งเสริมวางแผนธุรกิจให้กับเกษตรกรในการผลิต หลังจากนั้นเราก็จะใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับมารวบรวมผลผลิตจากสมาชิกและแปรรูป รวมถึงการเก็บชะลอราคาด้วยในการที่จะนำผลผลิตเกษตรกรมาสร้างมูลค่าเพิ่มตรงนี้ได้มีการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวเกษตรกร มีรายได้ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมให้เขาผลิตหลายอย่างไม่ใช่เป็นพืชเชิงเดี่ยวเหมือนเมื่อก่อน ผลิตมาแล้วมีการแปรรูป มีการทำในเรื่องบรรจุภัณฑ์ มีการทำการตลาดแบบออนไลน์ให้เข้ากับช่วงยุคโควิดในช่วงนั้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันด้วย และในส่วนของสหกรณ์เองจากการที่ได้รับอุปกรณ์เหล่านี้ไปทำให้การรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์ทำได้มากขึ้นมีเรื่องของการแปรรูป ได้อุปกรณ์ที่ทันสมัยชึ้นในเรื่องของการที่จะหาตลาดก็สามารถทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมทำให้การแปรรูป การผลิตและการจำหน่ายสหกรณ์มีปริมาณธุรกิจมากขึ้นก็ส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของสหกรณ์
 

ในส่วนของสหกรณ์เอง เรื่องที่สำคัญคือเรื่องของเงินทุนที่จะไปใช้รวบรวมผลผลิตเหล่านี้จากสมาชิกเกษตรกร ซึ่งจะต้องเข้าใจว่าผลผลิตเกษตรกรจะออกมาพร้อมกัน อย่างข้าว  มันสำปะหลัง และข้าวโพด ในช่วงต้นฤดูราคาจะต่ำ เพราะว่าผู้ประกอบการจะช้อนซื้อในช่วงราคาต่ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์เองก็มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปสนับสนุนสหกรณ์ให้รวบรวมผลผลิตในราคาที่ยุติธรรมไม่ใช่ไปซื้อจากตลาดในราคาสุง สุดท้ายตัวสหกรณ์เองก็ประสบปัญหา คือราคาสุงกว่าตลาดมากก็ไม่ดี เป้นราคาเป็นธรรมบวกเพิ่มจากราคาตลาดไปนิดหน่อยเพื่อช่วยเกษตรกร
 

 อย่างไรก็ดี นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า พันธกิจของกรมส่งเสริมสหกรณ์เราจะมุ่งมั่นพัฒนาเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดี แล้วการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์มีความเข้มแข็งช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เราเองก็ใช้บุคลากรของทางกระทรวงเกษตร โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปพัฒนาสร้างความรู้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีความเข้มแข็งจากการผลิตแบบดั้งเดิมมาเป็นการผลิตแบบใหม่ได้ใช้แนวคิดตามแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ในทุกเรื่องก่อนแล้วหลังจากนั้นจะไปสู่ในเรื่องของการตลาด มีการรวมกลุ่มกัน สร้างความเข้มแข็ง มีการรวมกันผลิตในลักษณะของแปลงใหญ่ มีการใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องเกษตรกร นี่เป็นความมุ่งมั่นเป็นภารกิจหลักของชาวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์...