องค์การสวนสัตว์ ฯ ปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ หลังจากสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือกว่า 20 ปี

28 ต.ค. 2565 | 05:01 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 12:11 น.

องค์การสวนสัตว์ ฯ ปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ หลังจากสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือของประเทศไทย มานานกว่า 20 ปี

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่อุทยานแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายสักรินทร์ ปัญญาใจ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง  นายนพรัตน์ รักษ์ไพรสาณฑ์ นายอำเภอเมืองปาน และคณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคเหนือ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำโรงเรียน ตัวแทนบริษัทเอกชน และชาวบ้านในจังหวัดลำปาง ร่วมกันเปิด “โครงการทดลองปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเขตพื้นที่ภาคเหนือ” ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ภายใต้แนวคิด “พานกกาฮังปิ๊กบ้าน” นำนกกาฮัง หรือ นกกก หนึ่งในนกเงือกขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จำนวน 2 ตัวที่ได้รับการคัดเลือกและฟื้นฟูพฤติกรรมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ถือเป็นนกกาฮังคู่แรกที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติของภาคเหนือ ภายหลังการสูญหายไปหมดสิ้น

องค์การสวนสัตว์ ฯ ปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ หลังจากสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือกว่า 20 ปี

โดยทางคณะผู้วิจัยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือกว่า 6 แห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติขุนแจ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจาก วช.  สกสว.  บริษัทกรุงสยามเครื่องดื่มจำกัด เพจโครงการ SOS for birds and Turtle และโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ ในการศึกษาวิจัยภายใต้ชุดแผน “การบูรณาการจัดการประชากรและการฟื้นฟูพฤติกรรมนกกาฮัง เพื่อเตรียมความพร้อมในการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำเอาการศึกษาทางด้านพันธุกรรม การศึกษาประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทดลองปล่อย และการฟื้นฟูพฤติกรรมก่อนการนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติมาใช้บูรณาการร่วมกัน

องค์การสวนสัตว์ ฯ ปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ หลังจากสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือกว่า 20 ปี

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันการแพร่กระจายของนกกาฮังในประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ถีงแม้จะมีพื้นที่การกระจายที่กว้างแต่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ ทั้งนี้พบว่าบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น พื้นที่ทางภาคเหนือ นกกาฮังได้สูญหายจากธรรมชาติไปหมดสิ้น ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ที่มีพันธะกิจหลักทางด้านการอนุรักษ์ วิจัยพันธุ์สัตว์ป่าหายากทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัย ได้ดำเนินความพยายามในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จนมีจำนวนประชากรบางส่วนที่เพียงพอต่อการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ซึ่งนกกาฮัง หรือ นกกก นั้นถือเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)  โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จด้านการขยายพันธุ์นกกาฮังในสภาพเพาะเลี้ยง รวมถึงนกเงือกชนิดอื่น ๆ บางชนิด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยมาเป็นลำดับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกกาฮังครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 และประสบความสำเร็จต่อเนื่องทุกปี ถึง ปัจจุบัน  เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความโดดเด่น ดึงดูดความสนใจของสาธารณะชนทั่วไปในการสร้างให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ตามแผนระยะที่ 1 ทางโครงการวิจัยฯ มีแผนการทดลองปล่อยนกกาฮังคู่แรกคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่เชิงนิเวศ การกระจาย และการอยู่รอดได้ในพื้นที่ โดยจะทยอยปล่อยเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน รวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือแห่งอื่น ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น รวมถึงจะมีการดำเนินงานติดตามภายหลังการทดลองปล่อยที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ IUCN SSC และ AZA ในการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักทางวิชาการสากลในอีกหลายปีข้างหน้าต่อไป