ธ.ก.ส. ชวนเกษตรกรรับมือวิกฤตปุ๋ยแพง หันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน เร่งกระจายความรู้ด้านการผลิต ผ่านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 399 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตกว่า 250,000 ราย โชว์ต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับกระแสโลกที่มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก BCG พร้อมเติมทุนดอกเบี้ยต่ำทุกรูปแบบ เพื่อสร้างเมืองไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัยของโลก
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลนและมีราคาแพงอันเนื่องมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 และสงครามความขัดแย้งรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อรับมือกับปัญหาและสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรในการลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้สู้ภัยต้นทุนการผลิตสูง โดยระดมพลังปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ทั้ง 399 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านซับรวงไทร ตำบลนาฝาย อำภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ นับว่าเป็นต้นแบบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ที่สนใจ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไก่แล้วนำมาเพาะปลูกผักปลอดภัย นำไปจำหน่ายในตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. ซึ่งบ้านซับรวงไทร ได้รับการสนับสนุนจากธ.ก.ส. โดยได้รับการพัฒนาจากชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จนพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตผักปลอดภัย ตลอดจนระบบการเชื่อมโยงตลาด ทั้งในท้องถิ่นและภายนอกได้เป็นอย่างดี ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. เหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์การปรับเปลี่ยนการผลิตสู่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งความรู้ด้านการใช้สมุนไพร การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยเบญจคุณ ปุ๋ยหมัก การนำเศษวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตรมาปรับเปลี่ยนเป็นของที่มีประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เพิ่ม โดยตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพื่อฟื้นฟูอาชีพและการปรับเปลี่ยนการผลิต จำนวนกว่า 250,000 ราย
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า วิกฤตราคาปุ๋ยแพงที่เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตของประเทศไทยไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตและประชาชนที่เป็นผู้บริโภคแล้ว ยังสอดรับกับกระแสโลกที่กำลังรณรงค์ให้ทุกประเทศร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน มีการกำหนดเกณฑ์การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัย และการห้ามใช้สารเคมี เป็นต้น ในส่วนของ ธ.ก.ส. กำหนดวิสัยทัศน์ เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน โดยในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส. วางนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้หลัก BCG Economy Model เพื่อต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางภูมิสังคม - วัฒนธรรม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริม เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากทำมากแต่ได้น้อย ไปสู่ทำน้อยแต่ได้มาก และตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก ได้แก่ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ หนุนแนวคิด Zero waste ในการลดขยะให้เป็นศูนย์และ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ การลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเกษตรกรทั้งที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. อยู่แล้ว บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงแรงงานคืนถิ่นที่พร้อมจะนำความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กลับมาพัฒนาภาคการเกษตรและบ้านเกิดผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำทุกรูปแบบ เช่น โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อ SMAEs สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อ Green Credit เป็นต้น
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของธุรกิจฟาร์มสุกรขุน อีซี่ เทค ฟาร์ม ของ ดร. อภิชาติ อาจนาเสียว ทายาทเกษตรกรที่รับช่วงต่อธุรกิจจากบิดา มีการนำความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนโรงเรือนให้เป็นโรงเรือนอัจฉริยะ สามารถเช็คระบบโรงเรือนได้ง่าย ๆ ผ่านสมาร์ตโฟนพร้อมเก็บข้อมูลบน Cloud ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง การนำระบบเซ็นเซอร์มาใช้ในการควบคุม ทั้งการให้อาหาร อุณหภูมิโรงเรือน การตรวจสอบความผิดปกติของสุกร ซึ่งทำให้สุกรที่เลี้ยงในระบบเปิดของฟาร์ม สามารถดูแลได้ง่ายและให้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าสุกรขุนที่เลี้ยงในระบบปิด ซึ่งมีการลงทุนที่สูงกว่า มีการจัดทำแผนต่อยอดในการใช้มูลสุกรมาผลิตเป็นไฟฟ้าชีวมวล เพื่อนำมาใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาด้านมลพิษจากกลิ่น
ด้านกาลครั้งหนึ่งฟาร์ม ของคุณรสิตา จรดล ถือเป็น Young Smart Farmer ที่หันมาธุรกิจด้านการเกษตร โดยเลี้ยงโคนมแม่พันธุ์กว่า 300 ตัว และส่งน้ำนมดิบจำหน่ายให้แก่สหกรณ์รวบรวมน้ำนมดิบในพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาได้พัฒนาการผลิตเครื่องรีดน้ำมูลโคอบแห้ง เพื่อผลิตและจำหน่ายปุ๋ยมูลโคอบแห้งสำหรับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องรีดน้ำมูลโคอบแห้งกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) จังหวัดชัยภูมิ เพื่อจำหน่ายเครื่องรีดน้ำฯ ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมูลโคด้วยการแปรรูป ลดต้นทุนในการนำเข้าเครื่องรีดน้ำในมูลโคสดจากต่างประเทศและลดปัญหามลภาวะเรื่องกลิ่นอีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำนมดิบมาแปรรูปเป็นโยเกิร์ต ไอศกรีมโยเกิร์ตและมอสซาเรลลาชีส จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ ธุรกิจทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยภายใต้หลัก BCG ที่นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการเสริมศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกรไทยในเวทีการค้าโลก