แสนสิริ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี รุกแผนโร้ดแมพ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ การศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับเด็กไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขชีวิตแบบใด ภายใต้ โครงการ 'Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน' ปีที่ 2 หวังเป็นฟันเฟืองช่วยปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของแสนสิริ ด้านการให้ความสำคัญกับเด็กอย่างยั่งยืนกว่า 10 ปี และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม
เผยปัจจุบัน ช่วยเหลือเด็กเสี่ยงหลุดและเด็กหลุดจากระบบได้มีทางเลือกการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตได้แล้วจำนวน 9,311 คน จากทั้งหมด 10 อำเภอในจังหวัดราชบุรีเดินหน้าขับเคลื่อนราชบุรี ให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ที่จะสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ได้ในปี 2567
นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แสนสิริ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้เจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ผลักดันความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมทุกมิติ รวมถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กที่จะนำพาประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ จากโครงสร้างการศึกษาไทยที่ยังไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ และวิกฤตในการใช้ชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่นั้นๆ อย่างเท่าเทียม ในปีนี้ เราจึงเดินหน้า พันธกิจ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ร่วมกับ กสศ. และสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี เพื่อลงลึกถึงการแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้ในระดับประเทศ ผ่านโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’
ทั้งภารกิจในการพัฒนากลไกการปฏิรูประบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถึงระดับโครงสร้าง การพัฒนากลไกการทำงานเชิงพื้นที่ ภารกิจในการสำรวจ ช่วยเหลือ และติดตามกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาสอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงการดำเนินงานของ กสศ. ที่ต่อเนื่องและมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ภายใต้ทุกเงื่อนไขชีวิตเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม”
ด้านความคืบหน้าพันธกิจโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ สามารถลดจำนวนเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา รวมไปถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ให้สามารถได้รับการศึกษาและพัฒนาให้มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ ได้แล้วจำนวน 9,311 คน จากทั้งหมด 10อำเภอ หลังจากเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2565 โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และกสศ. ภายใต้เงินสนับสนุนจากการระดมทุนบริจาคช่วยเหลือเด็ก 100 ล้านบาท ในการดำเนินงาน 3 ปี โดยในปีที่ผ่านมา ได้ริเริ่มใช้นวัตกรรมกลไกอาสาสมัครอย่าง “3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี”
รวมพลัง 3 กลไกท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครการศึกษา(อสศ.) เพื่อฟื้นฟูเด็กๆ ทุกมิติ มุ่งดูแลและฟื้นฟูเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาและทำงานครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ ด้านสุขภาพกาย-ใจ การคุ้มครองทางสังคม และโอกาสทางการศึกษา โดยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “กสศ. พบว่าระบบการศึกษาที่ไม่เข้ากับเด็ก, ขาดแคลนทางเลือก และไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายได้ เป็นสาเหตุสำคัญของการผลักดันให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและระบบสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยากจน, ด้อยโอกาส, กลุ่มเปราะบางทางสังคม และปัญหาเฉพาะ เช่น อยู่ในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มตั้งครรภ์ในวัยเรียน กลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ ดังนั้นควรสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกัน มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขทางด้านการศึกษา สามารถเรียนแล้วได้วุฒิ ได้งาน ได้เงิน ได้ทักษะชีวิต ทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่”
“กสศ.ทำงานร่วมกับ สมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) และภาคีหลายภาคส่วน เร่งศึกษาปัญหาในชุมชน การประเมินต้นทุนการทำงานในพื้นที่ พร้อมกับวิเคราะห์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ราชบุรี, องค์การบริหารส่วนตำบล, กลุ่มโรงเรียน สพป. กลุ่มโรงเรียนเครือข่าย กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษาและขยายโอกาส, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และเครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก
เพื่อร่วมพัฒนาหน่วยจัดการเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่น จนพัฒนาเป็น โครงการต้นแบบ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ครั้งแรกในจังหวัดราชบุรี โดยเตรียมนำร่อง กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต 1 ในเดือนสิงหาคมนี้ และได้มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่นำร่อง เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายสูงสุดในการพลิกการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการทำให้เด็กในจังหวัดราชบุรีหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปีให้เกิดขึ้นได้จริง”
ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 (สพป.ราชบุรี เขต1) กล่าวว่า “การศึกษานั้นมีความสำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ใน มาตรา 15 กำหนดไว้ว่า โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การศึกษาในระบบ ที่กำหนดหลักสูตร, 2.การศึกษานอกระบบ ที่มีความยืดหยุ่นของรูปแบบ, วิธีการและระยะเวลาของการศึกษา และการวัดและประเมินผล
โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาของบุคคลแต่ละกลุ่ม 3.การศึกษาตามอัธยาศัย ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส ซึ่งทางโรงเรียนมหาราช 7 โรงเรียน อนุบาลสวนผึ้ง โรงเรียนวัดดอนตลุง (ราษฎ์ศรัทธาทาน) ในพื้นที่ สพป.ราชบุรี เขต 1 และ โรงเรียนเนกขำวิทยา สพม.ราชบุรี จะเป็นโรงเรียนนำร่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคล และสามารถพัฒนาระบบการศึกษา ให้พื้นที่จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ Zero Dropout ในอนาคตต่อไป นอกเหนือจากโครงการต้นแบบ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ แล้ว ทาง กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาโครงการเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้เข้าถึงเด็กทุกคน”
“แสนสิริ มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแก้ไขและจุดประกายให้แก่หน่วยงานและภาคเอกชนต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่หยั่งรากลึกถึงโครงสร้างของสังคมและระบบการบริหารจัดการของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำงบประมาณด้านการศึกษาเคยได้รับการจัดสรรอย่างไม่เท่าเทียมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ ‘ราชบุรีโมเดล’ เป็นโครงการนำร่องในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ และสามารถขยายผลต่อในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน” นายอภิชาติ กล่าวสรุป