นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในงานแถลงผลงานกรมวิชาการเกษตร 2566 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำการวิจัย มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานและมอบนโยบายให้กับกรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นคลังสมองของกรมในการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สามารถนำไปต่อยอด ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สร้างคุณค่าให้กับองค์กรให้เติบโตเข้มแข็งขึ้น ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับการพัฒนาการเกษตรของประเทศอย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืนต่อไป
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการองค์ความรู้ของกรมให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้สามารถนำเอาข้อมูลและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรต่อไป
ฉบับที่ 2 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยภาคการเกษตร ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีผลบังคับกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ด้านการวิจัย นวัตกรรมด้านการเกษตรและการตลาด โดยขับเคลื่อนผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรสู่การปฏิบัติให้เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการผลิต สู่การเชื่อมโยงตลาด
ฉบับที่ 3 พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรกับผู้ประกอบการ ใน “สูตรและกรรมวิธีในการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สำหรับข้าว” ระหว่างกรมวิชาการเกษตร กับ ผู้ประกอบการ 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด 2.บริษัท สยามอะกริ ซัพพลาย จำกัด 3.บริษัท ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพลพบุรี จำกัด 4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรีน มิราเคิล 5.บริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด
นายระพีภัทร์ กล่าวถึง สาเหตุที่ได้ขายลิขสิทธิ์การผลิตให้เอกชนนำไปผลิตเองได้ เนื่องจากกำลังผลิตกรมวิชาการเกษตรไม่เพียงพอ และเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกรมที่ก้าวไปสู่ปีที่ 51 ใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะนำผลงานไปสู่การปฏิบัติทันทีภายใน 100 วัน ภายใต้นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์