รมว.ธรรมนัสเยือนลพบุรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักฯ

19 ต.ค. 2566 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 08:02 น.

ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการและรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ พร้อมมอบนโนบายแนวทางการแก้ไขปัญหา

วันนี้ (19 ต.ค.66) ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการและรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ พร้อมมอบนโนบายแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีนายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่   
 


ลุ่มน้ำป่าสัก มีพื้นที่ประมาณ 9.764 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.18 ของพื้นที่ประเทศ บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวลาดสู่ภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดเลย จนถึงจังหวัดลพบุรี ตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มบริเวณจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยามีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน มีลำน้ำสาขาแยกทางทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นจำนวนมาก พื้นที่รับน้ำมีขนาดเล็ก ประกอบกับพื้นที่ราบเพื่อการพัฒนาเป็นโครงการชลประทานอยู่ในระดับที่จำกัด
 

 


สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน (19 ต.ค.66) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 91 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 86 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพิ่มเติม เนื่องจากลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำป่าสักมีปริมาณมากในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีศักยภาพรับน้ำได้เพียง 960 ล้าน ลบ.ม. โดยได้ศึกษาแผนงานโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก จำนวน 19 โครงการ ซึ่งหากพัฒนาเต็มศักยภาพครบทุกโครงการจะสามารถเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำป่าสักได้ รวมทั้งหมด 1,522.22 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62.62 ของปริมาณน้ำท่าทั้งหมด และเพิ่มพื้นที่ชลประทานเป็น 901,063 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.06 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด

ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การอุตสาหกรรม และการเกษตร ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน