กฟผ. ออก 3 แพ็คเกจลงทุนสถานีชาร์จ EV ต่อยอด-เสริมแกร่งธุรกิจ

27 ต.ค. 2566 | 08:24 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2566 | 09:57 น.

ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ในประเทศไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่ามียอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ (ป้ายแดง) ก.ย. 66 อยู่ที่ 6,839 คัน เพิ่มขึ้น 542.16% และรวม 9 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 50,000 คัน เพิ่มขึ้น 757.63% ทำให้สถานีชาร์จอีวีซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเปิดโอกาสชวนนักลงทุนที่อยากเป็นเจ้าของสถานีชาร์จอีวีด้วยบริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (One-Stop Service) 

นางรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. เล็งเห็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จอีวีเพื่อเป็นส่วนเสริมกับธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ ในขณะที่ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ทั้งสถานีชาร์จ EleX by EGAT กว่า 150 แห่งทั่วประเทศ การพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA รวมถึงระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จ BackEN EV จึงสามารถให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนได้แบบครบวงจร สามารถช่วยต่อยอดและสร้างโอกาสให้ธุรกิจเดิมแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยใช้แพลตฟอร์มของ กฟผ. และเข้ามาเป็นหนึ่งในสถานีเครือข่ายพันธมิตรของ EleXA


 

สำหรับบริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร แบ่งออกเป็น 3 แพ็คเก็จ เพื่อให้ผู้สนใจลงทุนได้เลือกให้เหมาะสมกับสถานที่และรูปแบบธุรกิจ ประกอบด้วย

  • Size S เหมาะสำหรับธุรกิจโรงแรม คาเฟ่ ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีเวลาในการใช้บริการในพื้นที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยใช้เครื่องชาร์จ AC ขนาด 22 kW จำนวน 2 เครื่อง  เงินลงทุนเริ่มต้นอยู่ที่ 209,000 บาท
  • Size M เหมาะสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลและคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งมีเวลาในการใช้บริการในพื้นที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยใช้เครื่องชาร์จ DC ขนาด 30 kW และ 50 kW เงินลงทุนเริ่มต้นอยู่ที่ 449,000 บาทSize L เหมาะสำหรับธุรกิจปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ เป็นเครื่องชาร์จ DC ขนาด 100 kW และ 150 kW ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นอยู่ที่ 1,239,000 บาท
  • Size L เหมาะสำหรับธุรกิจปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ ซึ่งมีเวลาในการใช้บริการในพื้นที่ประมาณ 30-45 นาที โดยใช้เครื่องชาร์จ DC ขนาด 100 kW และ 150 kW เงินลงทุนเริ่มต้นอยู่ที่ 1,239,000 บาท

 

นางรังสินี กล่าวย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนว่า ผู้ที่สนใจจะได้เตรียมความพร้อมก่อนลงทุนจริง โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ. ที่จะให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ อาทิ รูปแบบโมเดลการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ ผลตอบแทนจากการลงทุน การเลือกตำแหน่งสถานีที่เหมาะสมกับสถานที่ การควบคุมสถานีด้วยระบบบริหารจัดการ BackEN EV อีกทั้งสถานีเครือข่ายพันธมิตรของ EleXA รวมถึงสามารถดึงข้อมูลหรือบริหารจัดการสถานีได้แบบ Realtime อาทิ การตั้งเวลาเปิด-ปิดสถานีชาร์จ สามารถตั้งราคาตามความต้องการของเจ้าของสถานี รวมถึงสามารถดาวน์โหลดข้อมูลออกมาทำรายงานสรุปยอดขายได้อีกด้วย

“สถานีชาร์จเครือข่ายพันธมิตรของ EleXA เป็นสถานีชาร์จที่เป็นมิตรต่อทั้งลูกค้าผู้ใช้อีวี ทั้งจองชาร์จง่าย จ่ายสะดวก และผู้ประกอบการที่สามารถบริหารจัดการสถานีชาร์จได้ง่าย ๆ ผ่านระบบหลังบ้าน BackEN EV ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอีวีตัวจริงในทุกกระบวนการ”

สำหรับ ผู้ที่สนใจสามารถขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านอีวีได้ที่บูท EGAT EV Business Solutions (บูท EL21) ในงาน Bangkok EV Expo 2023 ตั้งแต่วันนี้ – 29 ต.ค. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ LINE OA: @BackenEV https://egatev.egat.co.th หรือ FB Page: EGAT EV