การพัฒนา "นวัตกรรมกรีน" เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหา "โลกเดือด" ที่กำลังเป็นวาระสำคัญของโลกในขณะนี้ นับเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอสซีจี ได้มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำและนวัตกรรมกรีนมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2567 นี้ บริษัทยังได้ทุ่มงบด้านการพัฒนาในเรื่องดังกล่าวมากถึง 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการเป็น Net Zero ภายในปี 2050 หรือในอีก 26 ปีข้างหน้า
การให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เอสซีจี ได้เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะงานโครงสร้าง ไปจนถึงเทคโนโลยีก่อสร้างบ้าน อาคาร โครงการต่าง ๆ ด้วย “ปูนคาร์บอนต่ำและคอนกรีตคาร์บอนต่ำ” ภายใต้ “เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน” เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แข็งแรง ได้มาตรฐาน สามารถตอบโจทย์โครงการก่อสร้างที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่อยู่อาศัย อาคารขนาดใหญ่ งานนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พร้อมยกระดับการอยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ดียิ่งขึ้นและเป็นมิตรต่อโลก
คุณสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน กล่าวว่า เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมก่อสร้างที่เป็นคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) โดยมีเป้าหมายการมุ่งสู่ Net Zero ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต เพื่อทำให้เสาต้นแรกของบ้าน อาคาร และโครงสร้างต่าง ๆ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีนวัตกรรมหลัก 3 กลุ่มที่น่าสนใจดังนี้
1. นวัตกรรมด้านการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Process เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการผลิตในโรงงานปูนซีเมนต์ของเอสซีจี ได้มีการใช้เชื้อเพลิงทดแทนจาก Bio Mass มากขึ้น เช่น แกลบ ฟางข้าว และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ ส่งผลให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทน (Alternative Fuel) ได้สูงถึง 40% และในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 ที่ผ่านมานี้ ยังได้เพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทนถึง 47% ควบคู่กับพัฒนาพลังงานสะอาดอื่น ๆ เช่น พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ หรือนำลมร้อนที่เหลือในขั้นตอนการผลิตปูน มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าของโรงงานด้วย
2. นวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Products โดยมีปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำและคอนกรีตคาร์บอนต่ำเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยเหตุผลของการพัฒนาเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่า ในอดีตอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ดังนั้นทีมวิจัยและพัฒนาของเอสซีจี จึงได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ” รายแรกในประเทศไทย
คุณสุรชัย กล่าวว่า หลังจากผลิตภัณฑ์ “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ” ได้ออกสู่ตลาดในเจเนอเรชันแรกแล้ว ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนทำให้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เอสซีจี ได้เปิดตัวปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เจเนอเรชันที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า นั่นคือ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิต ได้ถึง 15-20% เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ทั่วไป ส่วนในเจเนอเรชันที่ 3 นั้น ปัจจุบัน เอสซีจี อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา คาดว่า ในช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้จะเริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“เท่านั้นยังไม่พอ เรายังพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง โดยมุ่งสู่คอนกรีตคาร์บอนต่ำ โดยนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตคอนกรีต โดยใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกมากขึ้น ปัจจุบันสามารถทำคอนกรีตคาร์บอนต่ำ ลดคาร์บอนได้ 25 kg CO2 ต่อ 1 คิวตอนกรีตที่ใช้ หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2.5 ต้นทุก 1 คิวตอนกรีตอีกด้วย” คุณสุรชัย กล่าว
3. นวัตกรรมด้านการพัฒนาสิ่งก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Construction โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิธีการก่อสร้างที่เป็นคาร์บอนต่ำตลอดห่วงโซ่การผลิตสำหรับลูกค้า เริ่มตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง โดยได้แพลตฟอร์ม “KITCARBON” เป็นแพลตฟอร์มซึ่งใช้เทคโนโลยี Digital & BIM เข้ามาช่วยคำนวณ Embodied Carbon ของโครงการ เพื่อให้การออกแบบกระบวนการก่อสร้างและการเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ต่อมาคือการนำนวัตกรรม 3D Printing เพื่อทำการออกแบบและช่วยลดวัสดุเหลือทิ้ง อีกทั้งยังช่วยลดเวลาในการก่อสร้างลงด้วย ส่วนสุดท้าย นั่นคือนวัตกรรมการกำจัดของเหลือทิ้งในกระบวนการก่อสร้าง หรือ CPAC Waste Management Solution โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยกำจัดเศษคอนกรีตที่เหลือทิ้งจากงานก่อสร้าง โดยสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนคาร์บอนต่ำได้อีกด้วย
“การผลักดันนวัตกรรมกรีนทั้ง 3 กลุ่มนี้ หากทำสำเร็จตามเป้าหมาย จะทำให้เกิดสิ่งหนึ่งที่สำคัญขึ้นกับประเทศ นั่นคือ สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Green Society ส่วนแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรมกรีนของเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน ณ ปัจจุบันนี้ ได้เตรียมวงเงินลงทุนส่วนหนึ่งในปี 2567 ไว้รองรับแล้ว ทั้งการพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในการนำพาประเทศไทยไปสู่ Net Zero และช่วยทำให้โลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น” คุณสุรชัย กล่าวทิ้งท้าย