นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี และ นายศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาประจำสำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ รักษาการแทนรองอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีด้านนวัตกรรม พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชมชมกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยซีพีด้วยเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสูง พร้อมร่วมหารือสร้างความร่วมมือต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างจุฬาฯ กับเครือซีพีในอนาคต ณ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ รักษาการแทนรองอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพีและประทับใจตั้งแต่แนวคิดของประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่สร้างโรงงานแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก และปัจจุบันยังคงดำเนินธุรกิจสนับสนุนสังคมมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ของโควิดจะดีขึ้นแล้ว โรงงานแห่งนี้ถือว่ามีมาตรฐานสูงมากใกล้เคียงกับต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยจำนวนมาก และงานวิจัยหลายชิ้นสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ได้ หลังจากนี้จะมีการหารือถึงแผนของการพัฒนาเพื่อต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ร่วมกับเครือซีพีต่อไป
ด้าน นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี โดยโรงงานฯ แห่งนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 ตามเจตนารมย์ของ ท่านประธานอาวุโสเครือฯ ธนินท์ เจียรวนนท์ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนกลุ่มเปราะบาง ภายใต้การดำเนินงานผลิตของบริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมของเครือฯ โดยได้ผลิตหน้ากากอนามัยซีพีมอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นประจำทุกเดือนกว่า 300,000 ชิ้น ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้บริจาคหน้ากากอนามัยไปมากกว่า 46 ล้านชิ้น แจกจ่ายไปยังโรงพยาบาล มูลนิธิ และชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งการหารือร่วมกับจุฬาฯ ในครั้งนี้ เครือซีพีเล็งเห็นโอกาสในการนำศักยภาพของโรงงานฯที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานในระดับสากลสู่การต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สู่สังคมอย่างยั่งยืน