AIS ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันภัย ให้คนไทยทุกกลุ่ม

27 เม.ย. 2566 | 07:00 น.

AIS ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ สู่ภาคประชาชน ผนึกกำลัง สกมช. เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เสริมทักษะสร้างพลเมืองดิจิทัล ให้คนไทยทุกกลุ่ม ผ่านหน่วยงานเครือข่ายด้านความมั่นคงทั่วประเทศ

AIS ยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรจากทุกภาคส่วนเพื่อขยายผล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลที่ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาไทย ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกับ AIS และภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับทักษะดิจิทัล สร้างสังคมการใช้ดิจิทัลที่ถูกต้อง ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้คนไทย โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงมหาดไทย นำหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดทั่วประเทศ ที่เริ่มแล้วกว่า 29,000 โรงเรียนในเครือ สพฐ. ทั่วประเทศ

ล่าสุดวันนี้ AIS ได้ลงนามความร่วมมือกับ หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โดยตรงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ที่จะมาร่วมกันส่งต่อองค์ความรู้เนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ผ่านเครือข่ายและหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ไปยังภาคประชาชน ทั้งเด็ก เยาวชน กลุ่มคนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ ให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เป็นพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันการใช้งานออนไลน์ มีทักษะดิจิทัล สามารถรับมือและใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์

 

AIS ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันภัย ให้คนไทยทุกกลุ่ม

 

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจหลักของ สกมช.คือการมุ่งมั่นลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อยกระดับประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานโดยบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการทำงานเพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศให้แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“สำหรับความร่วมมือกับ AIS รวมถึง กรมสุขภาพจิต และ มจธ. ในครั้งนี้ นับเป็นอีกมิติหนึ่งขององค์กรที่จะนำความรู้ด้านทักษะดิจิทัลผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้าไปบูรณาการในภารกิจหลักของสกมช.ที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับ ทั้งเด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการผ่านเครือข่ายการทำงานของสกมช. ในรูปแบบของการทำงานเชิงรุกด้วยการสอดแทรกเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องภัยไซเบอร์ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และวัดผลด้วยการทดลองทำแบบทดสอบจริง พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้เกิดความหลากหลาย รวมทั้งหลักสูตรอุ่นไจไซเบอร์ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสกมช.เป็นรูปแบบของการทำงานที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้ศึกษาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย”

 

AIS ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันภัย ให้คนไทยทุกกลุ่ม

 

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารอัจฉริยะให้มีความพร้อมรองรับการใช้งานของลูกค้าและคนไทยแล้ว ภารกิจของ AIS ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ร่วมกันออกแบบเนื้อหาให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษาไทย เพื่อเป็นสื่อกลางปลูกฝังและเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ผ่าน 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะ คือ 1. Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2. Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกอออนไลน์ 3. Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4. Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้าถึงคนไทยไปแล้วกว่า 224,886 คน และมีโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. นำไปเป็นบทเรียนให้แก่นักเรียนแล้วกว่า 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศไทย”

“วันนี้เรายังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากขึ้น โดยครั้งนี้เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยไซเบอร์ระดับประเทศ อย่างสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ที่จะมาร่วมกันขยายผลการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุและคนพิการ ผ่านกลไกการทำงานของ สกมช.ที่มีหน่วยงานเครือข่ายการทำงานครอบคลุมในระดับตำบล อำเภอทั่วประเทศ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบของจัดกิจกรรม การลงพื้นที่ หรือแม้แต่การร่วมกันสื่อสารสร้างองค์ความรู้ในช่องทางต่างๆ ร่วมกัน”

นางสายชล กล่าวต่อในช่วงท้ายว่า “โดยเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประชาชนอย่าง สกมช. ในครั้งนี้จะช่วยทำให้เป้าหมายการทำงานที่ทั้งสององค์กรมีร่วมกันคือมุ่งลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล ทั้งความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ได้อย่างแน่นอน”