“กสทช.” เผย “Apple” พร้อมปลดล็อก cell broadcast ให้ ปภ. เตือนภัยแล้ว

02 เม.ย. 2568 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2568 | 10:57 น.

“กสทช.” เผย “Apple” ปลดล็อก cell broadcast ให้ ปภ. แจ้งเตือนภัยผู้ใช้มือถือ 50 ล้านเครื่องเปิดระบบภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมเปิดสถานีภัยพิบัติแห่งชาติ

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รักษาราชการการแทนเลขาธิการ และ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. ว่า  หลังจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งหนังสือถึง Apple เพื่อให้ปลดล็อกระบบเพื่อสนับสนุนการใช้งาน Cell Broadcast  ล่าสุด Apple ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจะดำเนินการเสร็จภายใน 5 วัน และ สามารถดำเนินการส่ง SMS ภายใน 2 สัปดาห์ โดย Cell Broadcast ส่งข้อความได้ในเทคโนโลยีระบบ 4 จี และ 5 จี ส่งข้อความ 30 ล้านครั้งต่อชัวโมง ส่วน SMS ระบบ 2 จี และ 3 จี ปัจจุบัน AIS มีผู้ใช้บริการ 1.2 ล้านเลขหมาย และ TRUE มีอยู่ 1 ล้านเลขหมายส่งได้คร้้งละ 3 ล้านครั้งต่อชั่วโมง

“ที่ผ่านมา SMS ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อภัยพิบัติ SMS ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว กสทช. จึงนำเอาแผนสำรองขึ้นมา คือ การส่งข้อความ SMS ,โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ วิทยุสมัครเล่น ระดมเรียกทั้งหมดเตรียมพร้อมดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง"

 

นายไตรรัตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากเพิ่มระบบเตือนภัยของ Apple มีการแจ้งเตือนภัย LINE ALERT มีจำนวนผู้ใช้บริการ 2 แสนคน จากคนใช้ไลน์ 56 ล้านคน โดยทำเป็นแบรนด์เนอร์ แจ้งเตือนโทรทัศน์เตือนภัยแห่งชาติช่อง 1  อีกด้วย

นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. ได้เปิดหมายเลขด่วนพิเศษ 1531 ให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง สำหรับการโทรแจ้งเหตุอาคารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว (โทรฟรี) หลังจากมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้ โดยการทำงานกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการบนหลักการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

ขณะที่ น.ส.พิรงรอง รามสูต  กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า  ในวันพรุ่งนี้ ( 3 เม.ย.) สำนักงาน กสทช. จะเป็นเจ้าภาพประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือ Early Warning SYSTEMS ผ่านโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน  (Mux) เพื่อให้สามารถเตือนภัยฉุกเฉินผ่านช่องทีวีดิจิทัล และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กว้างมากขึ้น เพื่อเสริมการเตือนภัยผ่านระบบแจ้งเตือนภัย หรือ cell broadcast  ผ่าน sms ที่รัฐบาล ได้เร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว

 

"ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ผ่าน Mux เวลามีเหตุเกิด จะสามารถตัดเข้ารายการเตือนภัยได้เลย โดยใช้  Mux เชื่อมสัญญาณ  โดยสามารถตัดเข้าจะเป็นประกาศเตือนภัย หรือ จะทำเป็นตัววิ่งอักษรหน้าจอ ก็ได้  ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ได้พยายามทำระบบนี้ กับทาง ททบ.5 และ ไทยพีบีเอส มาแล้ว นอกจากนี้จะมีการทำโทรทัศน์ เพื่อเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผ่านระบบทีวีดิจิทัล หรือ ช่อง 1  ซึ่งที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ได้มีมติไปแล้ว เมื่อครั้งประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ย.67  ให้ทำควบคู่กับระบบ cell broadcast ซึ่งจะให้นำกลับมาทำใหม่”

ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า บอร์ด กสทช. ประกอบด้วย พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศาสตราจารย์กิติตคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต , รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศุภชลาศัย  ได้เสนอเรื่องให้สำนักงาน กสทช. ติดตาม และ ตรวจสอบความล่าช้าจากการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช.ด้านการกำกับดูแลงานเพื่อการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเพื่อการสื่อสาร.