โค้งสุดท้ายการเมือง กับ แนวโน้ม - ข้อห้ามอสังหาฯไทย

29 ส.ค. 2565 | 03:23 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 10:30 น.

กูรูอสังหาฯ 'สัมมา คีตสิน' เผย แนวโน้มอสังหาฯไทยฟื้นตัวดี แบงก์ปล่อยสินเชื่อที่อยู่ ครึ่งปีทะลุ 3.1 แสนล้าน ธอส.กินรวบ สะท้อนบ้านกลาง-ต่ำ ไปได้ เชื่อปีนี้หน่วยเปิดใหม่โตแรง ปรามรัฐบาล จ่อเก็บ 'ภาษีลาภลอย' รอยต่อทางการเมือง

นาย สัมมา คีตสิน อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุถึง ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไทย และ แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2565 ภายใต้ก้าวย่างสำคัญของการเมืองและเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการติดเชื้อโควิด-19 สะสมที่ 4.6 ล้านราย (6.9% จากประชากร 68.8 ล้านคน) แต่เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในสัดส่วนที่น้อยลง ประกอบกับความจําเป็ นที่ต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทําให้รัฐบาลไทยผ่อนปรนมาตรการการเดินทางและให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเปิดให้บริการ จึงเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

สำหรับในภาคอสังหาฯนั้น น่าสนใจในแง่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ โดย ในครึ่งแรกของปี  2565 สถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 3.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากยอด 2.95 แสน ล้านบาทช่วงเดียวกันของปีก่อน  ขณะยอดรวมทั้งปี 2564 อยู่ที่  6.12 แสนล้านบาท  ส่วนปี 2563 ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อปี 2562 ในระบบเคยมีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่ฯ สูงถึง 7.02 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุด 

ที่อยู่อาศัยราคาถูกดีมานส์สูง 

 

ทั้งนี้ ธอส. มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 43% ในครึ่งปีแรก 2565 ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 1.35 แสนล้านบาท  และคาดว่าทั้งปีจะมียอดราว  2.8 แสนล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาต่ำถึงปานกลางยังเป็ นที่ต้องการของตลาดและขยายตัวต่อเนื่อง ขณะการขยายระดับราคาโครงการบ้านล้านหลัง เฟสที่ 2 โครง จากเดิมไม่เกินราคา  1.2 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คาดจะช่วยเพิ่มโอกาสคนซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น
 

"การที่ครึ่งปีแรก อัตราการเติบโตการปล่อยสินเชื่อใหม่โต 5.6% สูงกว่าสินเชื่อคงค้างในระบบ นับเป็นสัญญาณที่ดี บ่งชี้ว่าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และ ตลาดที่อยู่อาศัย กลับมามีการเติบโตที่ดีอีกครั้ง"

 

บ้าน - คอนโด ใหม่ ทะลัก 

นายสัมมา ประเมินว่า ในปี 2565 จะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเข้าใหม่ในตลาด กทม.และปริมณฑลมากกว่าปี 2564 อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากปริมาณการเปิดขายใหม่ในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะคอนโดมิเนีย ที่ 2 ปี รวมกัน  (ปี2563 -2564) มีเพียงประมาณ  51,300 หน่วย จากปกติปีละ ประมาณ 60,000 หน่วย - ซึ่งคาดว่า ปีนี้ จะมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากกว่า 45,000-50,000 หน่วย ขณะบ้านจัดสรร อยู่ที่ ประมาณ 35,000-40,000 หน่วย เนื่องจาก ทำเลรอบนอก ยังคงได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์

 

" ตลาดที่อยู่อาศัย  เริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ระดับราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีกําลังซื้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค  ปรับดีขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับ แต่คาดสถาบันการเงินยังพร้อมใจกันพยุง ก่อนค่อยๆปรับขึ้นในปีหน้า "


ปรามออกภาษีลาภลอย

ขณะสิ่งที่ภาครัฐต้องระมัดระวังในการสร้างปัจจัยลบ เช่น ข่าว 'ภาษีลาภลอย' ที่จะเรียกเก็บจากอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้ง มองว่า การเมืองไทย กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเลือกตั้งเร็วขึ้น ก่อนอายุของรัฐบาล จะครบกําหนดในเดือนพฤษภาคมปี 2566 ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งปกติจะทําให้เศรษฐกิจเดินสะพัดมากขึ้น จากการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน การหาเสียงของรัฐบาลและการใช้จ่ายเพื่อการรณรงค์หาเสียงของทุกพรรคการเมือง โดยมาตรการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เอื้ออำนวยกับประชาชน และเป็นคุณต่อผู้บริโภค และ  ผู้ประกอบการ จึงไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และ  ชะลอการออกกฎหมายหรือมาตรการ ที่อาจทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยม