ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา ชูโมเดลสร้างรายได้-อาชีพ ผู้เช่าเคหะสุขประชา

12 ก.ย. 2565 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2565 | 15:19 น.

“ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา” สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ผู้เช่า “เคหะสุขประชา" ชู 6 อาชีพหลัก ตอกย้ำบ้านเช่าที่มากกว่าคำว่า “ที่อยู่อาศัย” พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ที่บริหารงานโดย บมจ.เคหะสุขประชา หรือ K-HA โครงการที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้มีที่อยู่อาศัยพร้อมสร้างงาน 100,000 หลัง โดยการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา” ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสร้างอาชีพให้กับผู้เช่า ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  6 อาชีพหลัก ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ ตลาด บริการในชุมชน ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพื่อให้ทุกคนสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป

ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา ชูโมเดลสร้างรายได้-อาชีพ ผู้เช่าเคหะสุขประชา

รูปแบบของการสร้างบ้านเช่าพร้อมอาชีพของ “เคหะสุขประชา” จะเป็นการสร้างงาน คือ มีการจ้างบริษัทรับเหมาในท้องถิ่นในการก่อสร้างบนพื้นที่เช่าในระยะยาว 30 ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินเปล่าและที่ดินข้างเคียง ทั้งในโครงการบ้านของเคหะสุขประชา คือ ทุกโครงการจะมีพื้นที่ "เศรษฐกิจสุขประชา" เพื่อสร้างอาชีพแก่ผู้เช่าตามความเหมาะสมของพื้นที่โครงการ โดยได้รับเกียรติจาก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินทางมาเปิด “ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา” อย่างเป็นทางการ

โครงการเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจสุขประชา” กำหนดรูปแบบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างอาชีพและสร้างรายได้ภายในโครงการ โดยการแบ่งพื้นที่จัดประโยชน์ในโครงการออกเป็นสัดส่วน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ รูปแบบอาชีพแบ่งเป็น 6 รูปแบบ ได้แก่

ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา ชูโมเดลสร้างรายได้-อาชีพ ผู้เช่าเคหะสุขประชา

 

  1. เกษตรอินทรีย์ เช่น พืชระยะสั้น พืชล้มลุก ผลไม้ยืนต้น ฯลฯ
  2. ปศุสัตว์ เช่น ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ไข่เป็ดไล่ทุ่ง ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ฯลฯ
  3. อาชีพบริการในชุมชนที่อยู่อาศัยและชุมชนข้างเคียง เช่น ดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Day Care)สร้างงานในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ช่างไฟฟ้า ช่างประปาฯลฯ
  4. ตลาด เช่น แผงตลาด ที่จอดรถ ฯลฯ
  5. ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง เช่น Mini Mall คลังกระจายสินค้า ฯลฯ
  6. อุตสาหกรรมขนาดเล็ก

ดร.ตวงอัฐ กล่าวว่า โครงการนี้มีขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ศูนย์เพื่อพัฒนาฝึกอบรมให้กับผู้ที่เช่าอาศัย ซึ่งจะสามารถพัฒนาทักษะอาชีพภายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ โดยในขณะนี้ ได้นำร่องสร้างแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ บ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง และบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า รวมกว่า 500 หน่วย ในช่วงที่เปิดให้จองสิทธิ ประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากถึง 6,000 คนเพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง เบื้องต้นจะจัดสรรพื้นที่เปิดเป็นตลาด ส่วนที่โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จะจัดสรรพื้นที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ส่วนโครงการในต่างจังหวัดจะเน้นจัดสรรพื้นที่ทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์

ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา ชูโมเดลสร้างรายได้-อาชีพ ผู้เช่าเคหะสุขประชา

โครงการเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ จะเป็นโครงการที่ทำให้ 1 แสนครอบครัว มีที่อยู่ มีอาชีพ และยกมาตรฐานประเทศชาติไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเราต้องทำให้ได้ 1 แสนหลัง และกำลังวางแผนเรื่องการระดมทุนเพื่อทำเพิ่มให้สอดคล้องกับความต้องการเรื่องที่อยู่อาศัยของคนไทย สำหรับอาชีพต่าง ๆ เราก็จะให้ผู้เช่าเลือกในการทำงาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่จะไม่เหมือนกัน เราจึงมีศูนย์พัฒนาสุขประชา ในการรองรับการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ ให้กับผู้เช่า


นอกจากนี้ มีหน่วยงานรัฐที่สนใจสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับพนักงานของตนเองด้วย และเราต้องคิดว่า กลุ่มเปราะบาง ยังรวมถึงกลุ่มผู้พิการ แม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว นักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ กลุ่มที่เริ่มต้นทำงานรายได้เริ่มต้นแค่ 15,000 บาท จะสนับสนุนอย่างไร เคหะสุขประชามีแผนรองรับกลุ่มเหล่านี้ เช่น ด้วยการจับมือกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ในกลุ่ม 6 อาชีพ ในการพัฒนาฝึกฝีมือการทำงานต่าง ๆ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เราเป็นโครงการที่มีผู้ให้สินค้าที่มีคุณภาพจากต้นทาง ต่อให้กลุ่มที่สามารถกระจายได้ทั่วประเทศ หรือทำหน้าที่ในด้าน "อีมาร์เก็ตเพลส" เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และสินค้าของผู้อาศัยในชุมชนของเคหะสุขประชา"


“เรามีพันธมิตรในการขนส่ง มีระบบอีคอมเมิร์ซที่แข็งแรง ทำให้คนในชุมชนมีรายได้มากขึ้น เช่น เรามีแนวคิดเรื่องการส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มคนรักสุนัขและแมว เรามีแนวทางจะทำหมู่บ้านหมาแมว มีการสร้างอุตสาหกรรมขนาดเล็กรอบ ๆ หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเลี้ยงสัตว์ สามารถสร้างรายได้ ต่อเนื่องให้กับชุมชน ซึ่งการวิเคราะห์ว่าผลิตภัณฑ์ไหนเหมาะกับชุมชนไหน เราใช้ศูนย์พัฒนาสุขประชาเป็นผู้วิเคราะห์และพัฒนาอาชีพต่อไป” ดร.ตวงอัฐ กล่าว