ทำเลกรุงเทพกรีฑาสมรภูมิเดือด ขาใหญ่ แข่งสร้างเมือง ดูดกำลังซื้อเศรษฐี ค่ายเพอร์เฟค-แสนสิริ-เนอวานาเครือสิงห์เอสเตทปั่นที่พุ่งแรงจาก ราคาหลักหมื่นบาทต่อ ตร.ว. พุ่งเฉียด 2 แสนบาทต่อตร.ว.
เทรนด์การพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของคนในอนาคต กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่หลายรายในปัจจุบัน โดยเฉพาะโซนดาวรุ่งพุ่งแรง ด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ อย่าง ถนนศรีนครินทร์ - ร่มเกล้า หรือ กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ ที่พัฒนาใกล้แล้วเสร็จ ทำเลเกิดใหม่ มีความคึกคักต่อเนื่องสำหรับโครงการแนวราบระดับไฮเอนด์ขึ้นไป และด้วยศักยภาพของทำเล โดดเด่นด้วยการคมนาคมเชื่อมต่อหลายเส้นทาง รถไฟฟ้า 2 สาย ผังเมืองฉบับใหม่ ระบุ “สีเหลือง” ซึ่งหมายถึงความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยน้อย ยิ่งเอื้อต่อการพัฒนาโครงการใหม่ๆ เชิงที่อยู่อาศัย ธุรกิจด้านสุขภาพรองรับโอกาสในอนาคต ทั้งนี้ พบเจ้าของแลนด์แบงก์ขนาดใหญ่ 3 ราย เริ่มนำที่ดินที่กว้านซื้อสะสมไว้อย่างตํ่าๆ 200 ไร่ ออกมาพัฒนาต่อเนื่อง ตามเป้าหมายระยะยาว ผุดโปรเจ็กต์ยักษ์ทั้งเมืองที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ อาณาจักรโครงการแนวราบ มูลค่าต่อโปรเจ็กต์แตะระดับหมื่นล้านบาท ดึงพันธมิตรด้านธุรกิจ ต่างแนวคิด ต่างจุดเด่น คาดอนาคตแข่งขันดุเดือด
เริ่มที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นายสมเกียรติ หงษ์ทรัพย์ภิญโญ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการแนวราบ ประกาศวิสัยทัศน์ ปั้นที่ดินทำเล กรุงเทพกรีฑา จำนวน 300 ไร่ สู่การเป็น “เมืองคุณภาพชีวิตเพื่ออนาคต” ชูจุดเด่นสำคัญ คือ การสร้างถนนภาระจำยอมระยะทาง 1.7 กม. ทะลุถนนสายหลัก 2 เส้นทาง และการดึงพันธมิตรสำคัญ เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช เตรียมพัฒนา “Recreation Space” ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาEQ และ IQ ในเด็กในพื้นที่โครงการ คาดเปิดตัวปี 2564, โรงเรียนนานาชาติ ไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ และการร่วมกับพันธมิตรด้านค้าปลีก เตรียมเปิดคอมมิวนิตีมอลล์ในอนาคต ทั้งยังระบุว่า กำลังมองหาพันธมิตรรายอื่นๆ มาร่วมพัฒนาเมืองดังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วย
“ปัจจุบันทำเลนี้ เปรียบเป็นประตูบานใหญ่สำคัญของประเทศ ความเจริญเริ่มหลั่งไหลเข้ามา อนาคตผู้คนจะย้ายเข้ามาอยู่อาศัยอีกมาก เพราะผังเมืองใหม่คือโอกาส”
ด้านเจ้าของแลนด์แบงก์ขนาดใหญ่บนทำเลดังกล่าวอีกราย อย่างค่าย พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการระบุว่า มีที่ดินในบริเวณนี้ รวม 400 ไร่ ซึ่งพื้นที่ 2 ใน 3 ได้ถูกพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์หลากหลายระดับราคาไปแล้ว รวม 7 โครงการ ขณะนี้ปิดการขายไปแล้ว 4 โครงการ และยังอยู่ระหว่างการขายอีก 3 โครงการ นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนา ที่ดินเปล่าที่เหลืออยู่กว่า 100 ไร่ เป็นโครงการที่อยู่อาศัยอีก 3 โครงการ และอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการพัฒนาพื้นที่ด้านหน้าสุดในเชิงพาณิชย์กึ่งคอมมิวนิตีมอลล์อีก 1 แห่ง ซึ่งอาจพัฒนาเองหรือดึงพันธมิตรที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนา คาดใช้เวลาพัฒนาที่ดินทั้งหมดครบทั้ง 400 ไร่ ในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2565) รวมมูลค่าทั้งสิ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของทำเล ย่านที่อยู่อาศัยใหม่ของกลุ่มคนระดับบน โซนตะวันออก ที่มีดีมานด์ที่อยู่อาศัยจากกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับสนามบิน และเขตอุตสาหกรรม ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจ(อีอีซี) ทำให้ภาพรวมอัตราดูดซับในย่านดังกล่าวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราคาที่ดินปรับตัวขึ้นสูงมาก พบช่วงต้นศรีนครินทร์ -วงแหวน ตกตารางวาละ 1.2-.1.4 แสนบาท ขั้นตํ่าริมถนน 8 หมื่นบาทต่อตารางวา พร้อมคาดหลังการก่อสร้างสะพานข้ามถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก
แล้วเสร็จในช่วงปีนี้ จะทำให้ภาพการแข่งขันในย่านดังกล่าวสูงขึ้นอีก เพราะการเดินทางจะสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงราคาที่ดินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
“อนาคต กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ จะเป็นทำเลของโปรดักต์ราคาแพง ปัจจุบัน 2 ข้างทาง ด้านซ้ายเจ้าของที่รายใหญ่คือการเคหะฯ ด้านขวาเป็นของเจ้าของที่ดินเดิม และบางส่วนถูกกว้านซื้อโดยดีเวลอปเปอร์ หลายรายมองหาเพิ่มเติม เราเองถ้ามีโอกาสก็อยากได้เพิ่มเติมอีกเติมเต็มแผนพัฒนาอื่นๆ ปัจจุบัน ชูจุดแข็งเรื่องมัลติแบรนด์ โครงการใหญ่ที่มีหลายโครงการ และหลายระดับราคาในทำเลเดียวกัน”
ขณะ ค่ายเนอวานา ไดอิ บริษัทลูกของ สิงห์ เอสเตท อยู่ระหว่างวางแผนพัฒนาเมืองที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยภายใต้ชื่อ “Uptown Style” มูลค่ารวมกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท บนถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ หลังปัจจุบันมีที่ดินเปล่ารอการพัฒนาอีกจำนวน 250 ไร่ ในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ ตามแผนจะประกอบด้วย โครงการที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ หลังก่อนหน้านำร่องเปิดตัวโครงการ เนอวานา บียอนด์ พระราม 9-กรุงเทพกรีฑา มูลค่า 2.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับบริษัท ไดวะ เฮ้าส์ กรุ๊ป จากประเทศญี่ปุ่น โดยจุดเด่นของทาวน์ชิพ อยู่ที่แผนพัฒนา “เวลล์เนสเซ็นเตอร์” (ร่วมทุนกับพันธมิตรด้านสุขภาพ)บนที่ดิน 53 ไร่
หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3473 วันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562