นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 96,010 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และลดลงร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ของธุรกิจหลักลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 9,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักที่ดีขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการจัดการการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 201,751 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 16,355 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2563
โดยครึ่งปีแรกของปี 2563 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) 91,003 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอสซีจีปรับ 5 กลยุทธ์เชิงรุกดันทุกธุรกิจสู้โควิด-19
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 86,638 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีมูลค่า 706,652 ล้านบาท โดยร้อยละ 36 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2563 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 21,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการซื้อธุรกิจ และลดลงร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ความต้องการบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภค-บริโภค เเละบรรจุภัณฑ์สำหรับ E-commerce เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อน จากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 45,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 34,758 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 157 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณขายและส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 73,087 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,342 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงและผลประกอบการของบริษัทร่วมลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 42,506 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลงจากมาตรการปิดเมือง โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 211 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 และลดลงร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมาตรการปิดเมือง ปัจจัยด้านฤดูกาล และขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 88,751 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลงจากมาตรการปิดเมือง โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และในปีก่อนมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2562
นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “ในช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้เอสซีจีจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน แต่บริษัทได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเหตุการณ์มีความไม่แน่นอนสูง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมแผนการรองรับได้ทันท่วงที
เอสซีจี จึงได้ดำเนินธุรกิจให้มีโฟกัสมากยิ่งขึ้น ทั้งการเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Prepare for the Worst) เช่น การเตรียมการขายและการขนส่งล่วงหน้า หากมีการปิดเมือง การวางแผนสำหรับโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาได้ทุกเมื่อ (Plan for The Best) เช่น การปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ (Digital Transformation) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าที่สุด (Optimization Model) ขณะเดียวกันก็ได้เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลง และการเติบโตของตลาด ทั้งธุรกิจ e-commerce การสั่งอาหารออนไลน์ และพฤติกรรมบริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถส่งมอบนวัตกรรมโซลูชัน สินค้าและบริการ ที่ตอบความต้องการของผู้บริโภค และโอกาสทางการตลาดได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้ผลประกอบการของเอสซีจีในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2563 ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงแข็งแกร่งและมีศักยภาพที่โดดเด่น อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) อาทิ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และ Visy Packaging (Thailand) Limited รวมถึงการวางแผนการลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ SOVI ในเวียดนาม ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโต ครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
สำหรับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Management) ธุรกิจได้มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งในประเทศไทย และอาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนดขึ้นสำหรับการดำเนินงานในประเทศที่ธุรกิจประกอบกิจการอยู่ เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน ตลอดจนลูกค้าและคู่ธุรกิจ รวมถึงการทำงานร่วมกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอย่างใกล้ชิด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้คงความน่าเชื่อถือ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบและการจัดการด้าน โลจิสติกส์ พร้อมบังคับใช้มาตรการรักษาสุขอนามัยที่เข้มงวด เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ส่วนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGP คำขอได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ภายนอกต่าง ๆ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจ ภาวะตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ธุรกิจเคมิคอลส์ ได้เร่งดำเนินการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง (Business Continuity Management) เพื่อให้สามารถเดินหน้าการผลิตอย่างเต็มที่ และสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นการดูแลด้านความปลอดภัยของพนักงาน อาทิ การจัดที่พัก อำนวยความสะดวกในการเดินทาง การจัดกลุ่มและแบ่งสัดส่วนพื้นที่การทำงานของพนักงานในโรงงานอย่างชัดเจน ตลอดจนการควบคุมคุณภาพและความสะอาดของวัตถุดิบและสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทั้งพนักงานและลูกค้า ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยธุรกิจมีความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าที่ยืดหยุ่น ทำให้ตอบสนองกับความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในตลาดได้ ส่งผลให้ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นแม้ในสถานการณ์ที่ผันผวนและท้าทายนี้ และยังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ฟื้นตัว ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด
นอกจากนี้ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ก็มีความคืบหน้าตามแผน ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 45
สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังคงเผชิญกับสภาวะตลาดที่ท้าทาย ธุรกิจจึงได้ปรับตัวด้วยการมุ่งนำเสนอสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร และพัฒนาช่องทางค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-channel ที่เชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.COM กับเครือข่ายร้านค้าของ SCG HOME ทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ให้ลูกค้าสามารถสอบถาม ขอรับคำปรึกษา และเลือกซื้อสินค้าได้ทุกช่องทาง รวมทั้งนำเสนอแพลทฟอร์มเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเจ้าของบ้าน อาทิ คิวช่าง ศูนย์รวมบริการและโซลูชันเกี่ยวกับเรื่องบ้านจากทีมช่างคุณภาพ CON.X บริการงานก่อสร้างครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ รื้อ ซ่อม สร้างและตกแต่ง Design Connext มาร์เก็ตเพลสที่เชื่อมระหว่างนักออกแบบและเจ้าของบ้าน และ dooDeco บริการด้านตกแต่งภายในครบวงจร เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจยังให้บริการโซลูชันงานโครงสร้างกับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ด้านอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ชื่อ CPAC Smart Structure ด้วยการใช้สินค้าและนวัตกรรมการก่อสร้างที่ดีที่สุด อาทิ เทคโนโลยี BIM (Building Information Modelling) และ AR-VR (Augmented & Virtual Reality) เป็นต้น เข้ามาช่วยให้การทำงานสะดวกยิ่งขึ้น ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับการช่วยเหลือสังคมนั้น เอสซีจีเพียงลำพังไม่อาจช่วยเหลือสังคมในกว้างได้ ขอขอบคุณเครือข่าย 125 องค์กร ที่ช่วยสนับสนุนจนทำให้สามารถกระจาย 31 นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงาน 847 แห่งทั่วประเทศ ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อความต้องการของสังคม ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี สำหรับนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 อาทิ ห้องตรวจและ คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) โดยเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาระยะไกล โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) โดยธุรกิจเคมิคอลส์ รวมทั้งชุดกระดาษอนามัย ถุงซักผ้าละลายน้ำได้ เตียงกระดาษถอดประกอบได้ โดยธุรกิจแพคเกจจิ้ง รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่ได้ร่วมกับบริษัทคูโบต้าและโตโยต้า
เอสซีจี ยังได้รับสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ให้ดำเนินการผลิตและติดตั้ง “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” ให้แก่โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit)” และ “ห้องคัดกรองและห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Screening & Swab Unit)” สำหรับส่งมอบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนานำไปช่วยเหลือโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ และช่วยปกป้องประชาชนที่มารับการตรวจรักษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2563 ในอัตรา 5.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 6,600 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 กำหนดผู้ที่ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล (XD) ในวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2563 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินปันผล (Record date) ในวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป