การปรับทัพ เปลี่ยนโครงสร้างภายในบริษัท ท่าม กลางวิกฤติ โจทย์หินในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่น่าจับตาไม่น้อย โดยเฉพาะกับบริษัทที่ถือว่าเป็นผู้เล่นดาวเด่นในตลาดลักชัวรีคอนโดมิเนียม อย่าง บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ที่กำลังถูกต่างชาติซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญ ท้าทาย ทั้งในแง่การซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ และแม้ที่ผ่านมา จะมีการปรับเปลี่ยนในเชิงกลุ่มผู้ลงทุนถือหุ้นเรื่อยมา แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ผ่านการกลับเข้ามาในตลาดอสังหาฯ อย่างเต็มตัวอีกครั้ง ของ ตระกูล “ณรงค์เดช” ในฐานะผู้กุมบังเหียนใหม่ พร้อมกลุ่มทุนสิงคโปร์รายใหญ่ จึงมีอะไรให้น่าติดตาม...โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ การรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในกลุ่มคอนโดฯลักชัวรี ที่ดำเนินมาได้ต่อเนื่อง 30 ปี
โดยมีแฟนคลับเหนียวแน่นเป็นแรงผลัก ซึ่งตลาดนี้ บ้างถูกมองว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง เสี่ยงกับราคาที่ดินโหด ขณะอีกส่วน มองเป็นโอกาสสำคัญ ที่จะจับกลุ่มต่างชาติได้มากขึ้นหลังโควิด “ฐานเศรษฐกิจ” ร่วมพูดคุยผ่ามุมมองเรื่องนี้ กับประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ไรมอนแลนด์คนใหม่ “นายกรณ์ ณรงค์เดช” ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการสานต่อธุรกิจนับหลังจากนี้ ผ่านแผนพอร์ตการลงทุนใหม่ ระบุเตรียมใช้ดีเอ็นอี “ความลักชัวรี” บวกทำเล ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทตีทุกตลาดโอกาสต่างชาติ หลังมีความเชื่อมั่น “เมืองไทย เข้าชิง Second Home หลังวิกฤติ” ขณะโครงการที่อยู่อาศัยทำเลทอง มูลค่าไม่มีลดมีแต่จะเพิ่ม ตั้งเป้ารายได้ 2.5 - 3 พันล้านบาท
โครงสร้าง-ยุทธศาสตร์ใหม่
บริษัทเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารใหม่ หลังมีการปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้น และผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ Mesa Thaiจากสิงคโปร์ เข้ามา โดยปัจจุบัน “กลุ่มณรงค์เดช” เป็นผู้ถือหุ้นเบอร์ 1 ซึ่งกลยุทธ์ และแนวทางการบริหารงานนั้น จะมีความชัดเจนช่วงต้นปี 2564 หลังขณะนี้อยู่ระหว่างทาบทามบุคคลที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในวงการอสังหาริมทรัพย์ มาดำรงตำแหน่ง CEO ที่ว่างลง พร้อมมั่นใจในการสานต่อธุรกิจ หลังอสังหาฯไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับตนและตระกูล ซึ่งคุ้นชินจากการอยู่เบื้องหลัง กลุ่มเคพีเอ็นแลนด์ อย่างไรก็ตาม แม้โปรเจ็กต์เพื่อขายทุกแบรนด์ของ RML เช่น The Estelle,The Lofts, The Diplomat มีผลงานดี แต่โควิดก่อให้เกิดหลุมอากาศในการรับรู้รายได้ เพราะฐานหลัก
คือ ลูกค้าต่างชาติ ขณะปัจจุบันมีสต๊อก ทั้งแล้วเสร็จและก่อสร้าง มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนยอด Backlog มีราว 8.4 พันล้านบาท โดยกว่า 2 พันล้านบาทรอทยอยโอนฯ ทำให้มองเห็นความเสี่ยงในอนาคตจึงต้องการเพิ่มสัดส่วนด้านธุรกิจ Recurring Income เพื่อสร้างสมดุลทางรายได้ ซึ่งวางไว้เบื้องต้น รายได้จากการขาย และรายได้ประจำ ที่ 80:20 โดยโครงการสำนักงานเกรดเอ One City Centre บนทำเลทองเพลินจิต ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง พร้อมเปิดช่วงปลายปี 2565 นั้นจะเป็นตัวนำร่องรายได้ดังกล่าว วางเป้า 1 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5-7 ปี ขณะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ระหว่างพิจารณาขายหุ้นออกไป เพราะไม่ใช่โมเดลธุรกิจที่สนใจ
โอกาสทองตลาดโรงแรม
สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่เดิมมีแผนเปิด 2 แห่ง ขณะนี้แม้ชะลอไว้ แต่มองในระยะยาวเป็นโอกาสอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวะที่ผู้ประกอบการบางรายอาจไปต่อไม่ไหวจากโควิด และอยากขายออกมือ ทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง หรือโรงแรมใหม่ไม่เกิน 3- 5ปี บริษัทเล็งทั้งรูปแบบเทคโอเวอร์ หรือควบรวมกิจการ ซึ่งขณะนี้มีหลายรายติดต่อเข้ามา โดยจะใช้ความเชี่ยวชาญของพาร์ทเนอร์ใหม่ที่ถนัดในธุรกิจโรงแรมมาเป็นแรงผลัก เจาะตลาด ระดับ 4 ดาว ราคา 4,000 - 4,500 บาทต่อคืน ทั้งในทำเล กรุงเทพฯ และรีสอร์ตเดสซิเนชั่น เช่น หัวหิน พัทยา ภูเก็ต และพังงา หลังเชื่อมั่นจุดแข็งไทยด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหลังโควิดคงกลับมาคึกคัก
เศรษฐีไม่มีวันหมด
สำหรับแนวโน้มโครงการคอนโดฯ นายกรณ์ ระบุ บริษัทยังเชื่อ ว่าจะมีโอกาสเติบโตดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในตลาดระดับลักชัวรี-ซูเปอร์ลักชัวรี ใจกลางเมือง ราคา 2.5 แสนบาทต่อตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งนับเป็น Core Business ที่เรามีความเชี่ยวชาญถนัดที่สุด ขณะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ พบกำลังซื้อคนไทยระดับบนดีไม่ขาด และจะกลับมาซื้อ หลังภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว เนื่องด้วยมองหาโอกาสและความคุ้มค่าของการลงทุน แม้กระทั่งกลุ่มเศรษฐีต่างจังหวัด ก็ซื้อหาอสังหาฯ ประเภทนี้มากขึ้น และอีกแรงผลักสำคัญ คือ ฐานลูกค้าที่ผูกพันธ์เหนียวแน่น บางไล่ช็อปครบทุกโครงการ เราเรียกกลุ่มนี้ว่า “Top 50 Spender” ก่อให้เกิดการ ซื้อซ้ำ-บอกต่อ นับ 30%
เนื่องจากโปรดักต์ที่เคยถือครองมูลค่าไม่ตก มีแต่จะเพิ่มเป็นตัวการันตี ส่วนลูกค้าต่างชาติยอมรับ ขณะเป็นช่วงยากลำบาก แต่อนาคตจากการที่ไทยบริหารจัดการไวรัสได้เด็ดขาด ปลอดภัยสุด ถ้าเทียบกับเมืองอสังหาฯ อื่นๆ ต่างชาติมองไทยเป็นเบอร์ต้น โดยเฉพาะตลาดหรู เพื่อใช้เป็นบ้านหลังที่ 2 (Second Home) คาดจะมีการกลับมาทันทีที่เปิดประเทศ ฉะนั้นไม่ทิ้งอย่างแน่นอน
ไรมอนแลนด์ภาพใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินภาวะการแข่งขัน พบค่อนข้างรุนแรง หลังหลายรายหันมาขยายฐานลูกค้ากลุ่มบนมากขึ้น เลี่ยงเสี่ยงตลาดระดับกลาง-ล่าง ขณะราคาหดตัวไม่มาก ยังทำกำไรได้ ไม่นับรวมโครงการที่กำลังก่อสร้างและเตรียมเปิดใหม่ ที่ล้วนแต่มีดีไซน์-เทคโนโลยีทันสมัย ออกมาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้า บริษัทจึงเตรียมนำความได้เปรียบเรื่องแบรนด์ ที่สะสมมานาน 30 ปีมาต่อยอด พ่วงกับจุดแข็งเรื่องไพร์มโลเคชั่น และคุณภาพ มาเป็นปัจจัยดึงดูด ซึ่งโครงการในอนาคต จะมีภาพความลักชัวรีที่ต่างออกไป ในเชิงหรูหราแต่ทันสมัย ดีไซน์คงเอกลักษณ์ สวยงามเทียบชั้นนานาประเทศ พร้อมการบริการลูกค้าที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ตอบรับกับกลุ่มผู้ซื้อใหม่ๆ ซึ่งพบกลุ่มคนวัยทำงาน ประสบความสำเร็จในชีวิต ขณะอายุยังน้อย เช่น สตาร์ทอัพ มีเข้ามาในตลาดลักชัวรีมากขึ้น
"ภาพเปลี่ยนไรมอนแลนด์ ยังจะเกิดขึ้นในแง่รูปลักษณ์ของแบรนด์ ที่เฟรชขึ้น เป็นลักชัวรีทันสมัย เพราะนอกจากต้องการรักษาลูกค้าเดิมแล้ว เทรนด์ลูกค้าใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อ ก็เป็นโอกาส โดยตลาดนี้จะแข่งขันกันในแง่ คุณภาพ ควบคู่กับการสร้างความพึ่งพอใจให้ลูกค้า เปรียบการซื้อรถหรู ถ้าใครดีก็ไปต่อ แต่ที่หักล้างไม่ได้จริงๆ คือ ปัจจัยเรื่องโลเคชั่น ซึ่งมั่นใจว่าเราได้เปรียบ"
นอกจากนี้ บริษัท ยังมองหาโอกาสในตลาดแนวราบกลุ่มลักชัวรี ที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการได้มาของที่ดิน รวมถึงเทรนด์ Branded Residence (โครงการที่พักอาศัยหรูภายใต้แบรนด์ชั้นนำ) เพื่อเจาะกลุ่มเศรษฐีไทยและต่างชาติ เพราะมั่นใจความพร้อมของตลาดกรุงเทพฯ ในการเปิดบ้านหรูหลังที่ 2 นำร่องแลนด์แบงค์ย่านซอยสุขุมวิท 38 ซึ่งซื้อที่ดินมาในราคาสูง 1.8 ล้านบาทต่อตารางวา มูลค่าโครงการอย่างต่ำ 8 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,613 วันที่ 27 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563