ไม่เพียงแค่การลงทุนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าแต่ความจำเป็น ในการขยายเส้นทางการสัญจร ย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ ชานกรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงไปยังจังหวัดปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ เช่นเดียวกับ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์-ศาลายา ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,000 ล้านบาท ที่ประเมินว่า จะเป็นเส้นทางคมนาคมสายใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งรองรับปริมาณจราจร และกระจายความเจริญออกสู่จังหวัดใกล้เคียง
ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการก่อสร้างถนนนครอินทร์-ศาลายา แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ดิน วงเงิน 4,392 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 4,301 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 97 ล้านบาท ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหลักการพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนโครงการฯ ในท้องที่ ต.บาง ใหญ่ ต.บางม่วง ต.ศาลายา อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ และอ.พุทธมณฑล เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้พื้นที่จะเวนคืนที่ดินทั้งหมด 779 แปลง 356 ไร่ 87 หลัง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หลัง ครม.เห็นชอบ จะส่งเรื่องเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาดำเนินการต่อไป คาดว่าจะประกาศพระราชกฤษฎีกาการกำหนดเวนคืนที่ดินภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินภายใน 180 วัน หรือภายในกลางปี 2564
แหล่งข่าวทช. กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะตั้งงบประมาณค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน วงเงิน 4,392 ล้านบาท โดยขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากที่ผ่านมามีการขอรับจัดสรรงบประมาณดังกล่าวในปีงบประมาณ 2564 แต่ถูกตัดงบประมาณ ทำให้การชดเชยเงินให้กับประชาชนที่ถูกเวนที่ดินได้รับเงินล่าช้า ทั้งนี้หากได้รับงบประมาณค่าเวนคืนแล้วทางทช.จะเร่งดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยให้เหมาะสมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกปี 2565 และขอรับจัดสรรงบค่าก่อสร้างในปีงบประมาณ 2566 เพื่อเริ่มดำเนินก่อสร้างได้ภายในปี 2566
“ปัจจุบันเราได้มีการศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนแล้ว ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบเวนคืนในครั้งนี้อยากได้ค่าชดเชยโดยเร็ว ซึ่งทช.ได้แจ้งแล้วว่าจะมีการขอรับจัดสรรงบในปีงบ ประมาณ 2565 และจะดำเนินการชดเชยค่าเวนคืนต่อไป ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ ส่วนใหญ่เห็นด้วยตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาโครงการแล้ว
เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีปัญหาพื้นที่ปิดล้อมเส้นทางขนาดใหญ่ของถนนทั้ง 4 ทิศ ขนาด 90 ตร.กม. ได้แก่ ทิศเหนือแนวเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ทิศใต้แนวเส้นทางทางหลวงชนบทหมายเลข 388 ถนนบรมราชชนนี ทิศตะวันออกแนวเส้นทางถนนกาญจนาภิเษก และทิศตะวันตกแนวเส้นทางทางหลวงชนบท นฐ.3004 ถนนศาลายา-บางภาษี ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน หากมีการดำเนินการโครงการฯ แล้วเสร็จ จะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางและช่วยระบายรถออกสู่พื้นที่รอบนอกได้สะดวก”
ทั้งนี้พื้นที่เวนคืนที่ดินนั้น จะต้องพิจารณาจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนด้วย เพราะจะต้องระมัดระวังในการผ่านพื้นที่อ่อนไหว เช่น วัด โรงเรียน สถานพยาบาล และหมู่บ้าน หากบ้านของประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินในพื้นที่ของโครงการฯ ได้รับผลกระทบจะมีการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องเป็นไปตามกฎหมาย เบื้องต้นราคาที่ดินจะขึ้นตามราคาตลาด ขณะที่ราคาสิ่งปลูกสร้างจะยึดราคาตามประกาศกำหนดของกระทรวงพาณิชย์
กรณีมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของโครงการไม่มีสิทธิดัดแปลง แก้ไขโครงสร้างราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎหมายในเขตพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดินของพระราชกฤษ ฎีกา หากมีการดัดแปลงโครงสร้างดังกล่าวจะไม่ได้รับพิจารณาค่าชดเชยจากการเวนคืนที่ดิน
สำหรับรูปแบบของโครงการถนนตัดใหม่เชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา เป็นช่องจราจรทั้งหมด 6 ช่องจราจร ข้างละ 3 ช่องจราจร ซึ่งใช้ถนนแบบแอสฟัลต์คอนกรีต โดยแนวเส้นทางถนนเริ่มต้นจากถนนนครอินทร์บริเวณต่างระดับบางคูเวียง มุ่งหน้าด้านทิศตะวันตก ข้ามคลองประปา ผ่านบริเวณถนนนบ.1001 ซอยวัดพระเงิน มุ่งหน้าเส้นทางถนนนบ.5014 ซอยวัดต้นเชือก ข้ามคลองนราภิรมย์และข้ามทางหลวงชนบท นฐ.3004 ถนนศาลายา-บางภาษี สิ้นสุดทางหลวงชนบท นฐ.5035 วัดลานตากฟ้า จ.นครปฐม
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3620