รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยใช้กลไกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคท่องเที่ยวเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2564 เริ่มจากวันที่ 24 ตุลาคม 2563 กระทรวงการต่างประเทศ เชิญสมาคมอาคารชุดไทยเข้าหารือถึงสถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมของคนต่างชาติ ขณะภาคเอกชนเสนอแนวทางดึงต่างชาติ ซื้อคอนโดมิเนียมในไทยเพิ่มมากขึ้นได้ ต้องขยายวีซ่าให้สามารถพำนักได้ยาว
ในขณะเดียวกันการซื้อ-ขาย โอนเป็นกรรมสิทธ์ มองว่าเป็นทางออกที่ดี ด้วยข้อเสนอ หากซื้อคอนโดมิเนียมราคา ขั้นต่ำ 5 ล้านบาทขึ้นไป สามารถได้วีซ่าระยะยาว 5 ปี และถือเป็นการระบายสต็อกให้หมดไปได้ แต่ทั้งหมดนี้ รัฐบาลยังไม่เปิดกว้างเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ล็อตใหญ่ยังไม่เกิดขึ้นในระยะนี้ถึงปีหน้า
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศ ได้สรุปช่องทางให้คนต่างชาติ ซื้อที่อยู่อาศัยในไทยได้หลายช่องทางไล่ตั้งแต่คนเกษียณ มีหลักประกันสามารถเข้ามาได้ นอกจากนี้คนที่มาทำงานในประเทศไทยเป็นอาจารย์ โรงงาน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญหากมีหลักประกันสุขภาพ อีกทั้งซื้อคอนโดมเนียม ทั้งที่วางเงินดาวน์ พร้อมโอนกรรมสิทธ์และถือครองแล้ว ระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปสามารถเดินทางเข้ามาได้
เช่นเดียวกับคนที่มารักษาตัว มีเงินประกันสุขภาพ สาธารณสุข รวมทั้งกลุ่มคนรวยที่ต้องการมาพักระยะยาว โดยผ่านการกักตัว 14 วัน ได้วีซ่า 90 วันคูณ 3 อย่างไรก็ดี นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทยมองว่า เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ทั้งนี้ ยังต้องการเสนอให้ขยายวีซ่าสำหรับต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯกลุ่มแพง มากกว่า 10 ล้านบาทให้ได้สิทธิ์ ขอใบรับรองต่างด้าว ขณะที่ผ่านมาสถิติแต่ละปีมีต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียม ไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 10-12% และล่าสุด ยังมีชาวจีนสนใจซื้อเพียงแต่ยุ่งยากเรื่องเอกสารเกี่ยวกับวีซ่า
นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ตุลาคมที่จะถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เชิญ 3 สมาคมที่อยู่อาศัยเข้าหารือ เพื่อหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2564 ซึ่งนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ยอมรับว่า ข้อเสนอด้านการปลดล็อกสินเชื่อของสถาบันการเงินคงไม่สามารถกระทำได้ แต่ทางออกที่เป็นไปได้คือการ ออกมาตรการกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น และมาตราการลดค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับคนในประเทศ แต่ทั้งนี้เชื่อว่า รัฐบาลน่าจะเน้นอีริกการ์ดมากกว่า
เช่นเดียวกับนาย สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัดระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีผลต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อกำลังซื้อและการใช้เงินของคนในประเทศ
แต่ด้วยการรับมือกับวิกฤติไวรัสโควิด-9 ของประเทศไทยที่โดดเด่นในสายตาคนทั่วโลก หน่วยงานราชการ และเอกชนหลายแห่งจึงเห็นพ้องต้องกันว่าถ้าใช้ข้อได้เปรียบนี้เป็นจุดขายในช่วงนี้ในการดึงคนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น แม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะยังไม่ได้เปิดให้ไปไหนมาไหนแบบปกติก็ตาม แต่ด้วยความกังวลของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการหาที่พักในประเทศที่มั่นใจในเรื่องของป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ ประกอบกับค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป ประกอบกับเปิดรับชาวต่างชาติ ก็มีความเป็นไปได้ที่ชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงพยายามใช้ประโยชน์จากตรงจุดนี้อีกทั้งประเทศไทยตอนนี้ต้องการเงินเข้ามาหมุนในระบบทดแทนเงินที่หายไปจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแทบไม่เหลือแล้วโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ การดึงคนต่างชาติเข้ามาจึงเป็น 1 ช่องทางในการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเงินจากชาวต่างชาติให้มากขึ้น โดยพยายามให้เกิดการหมุนเวียนเงินให้มากกว่าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จำเป็นและเร่งด่วนในการทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ เพราะธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับอีกหลายกิจการ มาตรการในการดึงชาวต่างชาติเข้ามาในช่วงนี้จึงล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีมาตรการออกมากระตุ้นกำลังซื้อ และส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องคือ การผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้มากขึ้น จากนั้นไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ชาวต่างชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้นานถึง 270 วันหรือ 9 เดือนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เพียงแต่ต้องมีการกักตัวในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต และต้องมีเอกสารยืนยันว่าเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมในประเทศไทยด้วยในกรณีที่ไม่ได้พักในโรงแรม ซึ่งเรื่องนี้ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเข้ามาของชาวต่างชาติมากขึ้น
ไม่กี่วันที่ผ่านมาทางคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เห็นชอบในหลักการที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI เสนอให้ผ่อนเกณฑ์ในการพิจารณาการของมีถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนั้นดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ดึงกำลังซื้อของชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อชดเชยกำลังซื้อคนไทยที่ลดลง และเพื่อให้เกิดรายได้กับหลายๆ ธุรกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สำหรับคุณสมบัติของชาวต่างชาติตามเกณฑ์การขอมีถิ่นที่อยู่ของชาวตางชาติในประเทศไทยตามเกณฑ์ที่ทาง BOI เสนอต่อ ศบศ.นั้น คาดว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับชาวต่างชาติในกรณีที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันที่มีอยู่ในตอนนี้ มีรายละเอียด ได้แก่ ผู้นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยมีหนังสือรับรองจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งแสดงหลักฐานการโอนเงินจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย และการลงทุนต้องมีลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
โดยลงทุนในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงการลงทุน ซึ่งรับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย วัฒนธรรมหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ค้ำประกัน โดยแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน พันธบัตรนั้นๆ หรือลงทุนในตลาด หลักทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ต้องได้รับอนุมัติ หรือรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับแสดงหลักฐานใบหลักทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น
ที่สำคัญคือ ชาวต่างชาติที่จะขอเรื่องนี้ต้องพำนักในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีและได้รับอนุญาตเป็นรายปีมาก่อนหน้านี้แล้ว จากเกณฑ์นี้จะเห็นว่ายังไม่มีเรื่องของอสังหาริมทรัพย์เลย การยื่นข้อเสนอของ BOI ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ด้วยแน่นอน เพียงแต่ไม่ได้ระบุหรือว่ากำหนดลงไปในรายละเอียดแบบชัดเจนว่าต้องลงทุนเท่าไหร่จึงจะได้สิทธิ์เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้ แต่ตามมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินระบุว่าชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินขนาด 1 ไร่ได้
หากพวกเขาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาทในพันธบัตรรัฐบาล หรือลงทุนในหุ้นสามัญของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง หรือลงทุนในลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตต้องดำรงการลงทุนนั้นๆ ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี
จากข้อเสนอของ BOI ต่อศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือศบศ คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์นี้เพื่อกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากชาวต่างชาติมากขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับ BOI และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,622 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563