‘เอ็น.ซี’ รุกแนวราบ  ตอบโจทย์ที่อยู่อาศัยราคาตํ่า

20 ก.พ. 2564 | 23:15 น.

ผ่ามุมคิด

สงครามการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่ จีน -สหรัฐ ต่อเนื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทุบทุกหมวดอุตสาหกรรมหลัก ขับเคลื่อนจีดีพีของไทยเมื่อปี 2563 สร้างแรงกระทบทางลบต่อตลาดที่อยู่อาศัยไทยให้หมดท่า ก่อนรัฐยื่นมือเข้าช่วยกระตุ้น พร้อมๆกับการปรับตัวอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการ จนผ่านวิกฤติมาได้ คือ คำบอกเล่าของอสังหาริมทรัพย์รายเก่าแก่ อย่าง เอ็น .ซี เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้ ดำเนินธุรกิจมานานถึง 27 ปี นับรวมถึง 66 โครงการ โดยจุดเด่น นอกจากเป็นผู้พัฒนาฯ ที่มักเน้นเรื่องนวัตกรรมการก่อสร้าง ทั้ง Smart Eco และSmart Care จุดแข็งที่สำคัญ คือ ต้นทุนที่ต่ำ เป็นมิตรในเชิงราคา จากการเป็นเจ้าของแลนด์แบงก์รายใหญ่ กระจายทั่วกรุงเทพฯและฮับโซนเหนือ ทำให้โครงการบ้าน แบรนด์ดัง เช่น กรีนเนอร์รี่ หรือ บ้านฟ้ากรีนพาร์ค ที่ถือเป็นเรือธงของเอ็น.ซี กลายเป็นทางเลือกของลูกค้าใหม่ๆ เสมอ อย่างไรก็ตาม นายสมนึก ตัณฑเทอดธรรม  กรรมการผู้จัดการบริษัท ระบุ การแข่งขันในตลาดแนวราบปี 2564 มีความท้าทายรออยู่ การขยับตัวแบบเดิม หรือ การพัฒนาโปรดักต์ราคาเดิม อาจถึงทางตัน ไม่ตอบโจทย์แรงซื้อ ลุยเดินหน้าเปิดเซ็กเมนต์ใหม่แนวราบแตะกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท พร้อมลงขันธุรกิจใหม่ สู่การเป็นเจ้าของเวลเนส รับทั้งขึ้นและล่อง คว้าเป้ารายได้ 2 พันล้าน  

สมนึก  ตัณฑเทอดธรรม

ปี 63 ทำนิวไฮต์

ปี 2563 เป็นปีที่อุตสาหกรรมอสังหาฯได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจติดลบ 6% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี แต่โควิด-19 กลับมีนัยยะเชิงบวกต่อตลาดแนวราบ ซึ่งตรงกับพอร์ตโปรดักต์ส่วนใหญ่ 90% ของบริษัท อีกทั้งการปรับตัว ทั้งการบริหารจัดการสต็อก การพัฒนาโครงการใหม่ที่ตรงกับความต้องการ และจัดการต้นทุนที่ต่ำ ทำให้ปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จาก 2.7 พันล้านบาท มาสู่ระดับ 3.4-3.5 พันล้านบาท ซึ่งเติบโตถึง 30% ทำสถิติสูงสุดในการทำธุรกิจ ขณะรายได้ เข้าเป้าราว 1.6 พันล้านบาท สะท้อนถึงความสำเร็จในการปรับตัว เอาตัวรอด และจุดแข็งด้านราคาขาย หรือ ทำเลของโครงการที่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคโควิด ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วในแง่ดีมานด์ และซัพพลายของตลาด ณ ขณะนั้น 

ลุ้นตัวโก่งศก.64

สำหรับปีนี้ 2564 นั้น ความคาดหวังของอสังหาฯ ยังคงให้น้ำหนักไปที่เรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หลังจากปีที่ผ่านมา เครื่องยนต์สำคัญของจีดีพี 4 ด้าน (ส่งออก, ท่องเที่ยว ,การบริโภค ,การลงทุนเอกชน) ดับสนิท โดยหาก 4 ขา และการลงทุนของรัฐ กลับมาเดินหน้าได้เต็มที่ บวกกับวัคซีนมีผลสำเร็จ จะเป็นตัวปลดล็อกให้ธุรกิจต่างๆ กลับมา คนมีรายได้ เกิดความต้องการใช้จ่าย อุปโภค-บริโภคในประเทศ ปลายทางย่อมกระตุ้นให้กำลังซื้ออสังหาฯ ดีขึ้น ท่ามกลางตลาดโอกาสอย่างแนวราบ มีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่อ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อบริษัท จากแผนเปิดตัวโครงการแนวราบใหม่ทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่า 5 พันล้านบาท ครอบคลุมทำเลสำคัญ โซนเหนือของกทม.  ซึ่งเป็นฮับใหญ่ของบริษัท,โซนตะวันตก , โซนใต้ และโซนตะวันออก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยซื้อบ้านที่ลดลง และมาตรการรัฐ จึงมอง ปี 2564 เป็นปีทองของผู้ซื้อ ดีมานด์น่าจะคึกคัก 

เซ็กเมนต์ใหม่รับความผันแปร

อย่างไรก็ตาม นายสมนึก กล่าวว่า ยังมีความจำเป็นต้องรุกขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และตลาดใหม่เพื่อเพิ่ม ส่วนแบ่งทางการตลาด จากเป้าหมายที่ต้องการ “เป็นทางเลือก” ให้ลูกค้า ประกอบกับขณะนี้ ยอมรับว่า แม้ดีมานด์ความต้องการแนวราบมีเพิ่มขึ้น แต่กำลังซื้อไม่เหมือนเก่า มีความผันแปรตามทิศทางเศรษฐกิจ จึงต้องวางกลยุทธ์ด้านเซ็กเมนต์ใหม่ ซึ่งเดิมที บริษัทพัฒนาบ้านในกลุ่ม 4-5 ล้านบาทเป็นหลัก สัดส่วนบ้านเดี่ยว 50% บ้านแฝด 25% และทาวน์เฮาส์ 25% แต่ 7 โครงการใหม่ในปีนี้ จะแตะลงมาเล่นในตลาดราคาจับต้องได้มากขึ้น เช่น ทาวน์เฮ้าราคา 2-3 ล้าน ในโซนขอบเมือง ซึ่งจะเป็นพอร์ตใหญ่ในแง่จำนวนหน่วยในปีนี้มากกว่า 700 หน่วย รวมถึง บ้านแฝดในกลุ่ม 3-4 ล้านบาท หลังธนาคารยังมีสัญญาณการปล่อยสินเชื่อที่ดี ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“เป็นการเปิดตลาดใหม่ ซึ่งเราก็ต้องหาซื้อที่ดินเพิ่ม เพื่อให้ต้นทุนเหมาะสมด้วย เพราะกำลังซื้อแปรผัน ขณะนี้ยังได้รับผลกระทบจากโควิด รายได้ประจำ หรือ รายได้พิเศษของผู้ซื้อหายไป จึงต้องปรับเซ็กเมนต์ ให้คุ้มค่าและตอบรับกับกำลังซื้อที่ลดลง”

พิมพ์เขียวธุรกิจ

โควิด น่าจะยังคงอยู่อีกสักพัก ฉะนั้น ลูกค้ามีความกังวลเยอะ สิ่งที่ผู้พัฒนาต้องให้ความสำคัญ มอง 3 เรื่อง คือ ความรวดเร็วในการส่งมอบ,ราคา และดีไซน์ เป็นโจทย์ว่า สินค้าต้องไม่แพง และคุ้มค่าต่อการซื้อ โดยบริษัท จะเน้นโปรดักต์ที่จะสอดรับกับการใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น และการอยู่ร่วมกันของคนหลายวัย เช่น ทาวน์เฮาส์ที่มีนวัตกรรมประหยัดไฟ ,Smart Eco อยู่อาศัยแบบถูกสุขอนามัย สะอาดปลอดภัย เพื่อดึงดูดลูกค้ารายใหม่ ผ่านการหาพันธมิตรที่มีความถนัดในโซลูชั่นนั้นๆมาเป็นจุดแข็ง เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้ผู้อยู่อาศัย ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ตามไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ โดยไม่ไปเพิ่มภาระด้านราคาให้ผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างชิมลางธุรกิจใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมในขารายได้ประจำในอนาคต ในกลุ่มธุรกิจเวลเนสร่วมกับพันธมิตร ศิริอรุณ เวลเนส บริการฟื้นฟูสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเปิดไปแล้ว 3 แห่ง เช่น จ่อเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง เนื่องจากมองเห็นโอกาส จากความต้องการของลูกบ้านในโครงการเก่าๆของบริษัท และแนวโน้มของตลาด จากการเกิดขึ้นของยุค Aging Society 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564