แม้ปี 2564 ประเทศไทยและเศรษฐกิจยังคงมีความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ทุกภาคธุรกิจ ต้องเดินหน้า ไปพร้อมกับแผนการปรับตัวครั้่งใหญ่ รวมถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วย ที่ถูกทำนาย ชี้เปรี้ยง ว่าปัจจัยลบต่างๆ คงทำให้ตลาดปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัว เฟื่องฟูเหมือนช่วง 3-4 ปี ก่อนหน้า ทั้งดีมานด์หาย-ซัพพลายล้น ลูกค้าเผชิญกับภาวะหนี้เสีย แต่อย่างไรก็ตาม แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เริ่มสว่างมากขึ้น เมื่อวัคซีนโควิด-19 ที่กระจายฉีดแล้วทั่วโลก ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก ขณะประเทศไทย ปลดล็อกความกังวลและเพิ่มความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยวัคซีน ล็อตแรก 317,000 โดส นำร่องฉีดแล้วในกลุ่มเป้าหมาย ก่อนถึงคิวประชาชนทั่วไปตามลำดับความเสี่ยง
นั่นกลายเป็นตัวแปรสำคัญ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการไทยอีกครั้ง ว่าเศรษฐกิจปีนี้มีลุ้น ส่งต่อแรงบวกกับตลาดอสังหาฯ ให้กลับสู่ภาวะปกติในไม่ช้า ทยอยประกาศเดินหน้าแผนธุรกิจ อย่างชัดเจน ท่ามกลางกลยุทธ์ และความรอบคอบ แม่นยำในการพัฒนาโปรดักต์โดยนำบทเรียนและความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นใบเบิกทาง สานต่อการเติบโต และกู้ภาพขาดทุน ซึ่งตลาดเรียลดีมานด์ (ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง) ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ แม้แค่คอนโดมิเนียมบางเซ็กเมนต์ยังเป็นน่านน้ำสำคัญ ในการสร้างยอดขายหลักแสนล้านบาทในปีนี้
โดยรายใหญ่ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ดาวเด่นของอสังหาฯปี 63 ประกาศแผนเปิดตัวโครงการใหม่ ด้วยจำนวนสูงสุดในอุตสาหกรรม ที่ 34 โครงการ มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวราบถึง 30 โครงการ หวังเพิ่มยอดขายที่เติบโตสูงในกลุ่มบ้านเดี่ยวหลักหมื่นล้านในช่วงปีที่ผ่านมา โดยคาดปีนี้ จะเข้าไปเติมซัพพลายในตลาดราคา 3-10 ล้านบาท, ต่ำกว่า 3 ล้านบาท และมากกว่า 10 ล้านบาท หลังซัพพลายเริ่มลดลงมาก แต่ดีมานด์เติบโต
ส่วน บมจ.พฤกษา ปีนี้มีการกระจายพอร์ตการลงทุนอย่างชัดเจน ผ่าน 29 โครงการใหม่ หลังนายปิยะ ประยงค์ กลับมาเชื่อมั่นตลาดอีกครั้ง ระบุมาจากทั้งสัญญาณเรื่องวัคซีน และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ขณะเดียวกันแนวโน้มยอดขายและโอนฯ ในกลุ่มโครงการฮีโร่โปรเจ็กต์ เช่น บ้านพฤกษา,The PLANT ปีที่ผ่านมาไปได้ดี โดยเซ็กเมนต์ราคาปีนี้ 47% ราคาเฉลี่ยจะมากกว่า 3 ล้านบาท
ด้านบมจ. แอล.พี.เอ็น ประกาศ Turn around ครั้งใหญ่ หลังตั้งหลัก วางกลยุทธ์ปรับตัวในช่วงปีที่ผ่านมา โดยจะเพิ่มสัดส่วนโครงการแนวราบจาก 20% เป็น 30% ผ่านแผนเปิดใหม่ 6 โครงการ ทั้งแบรนด์หรู บ้าน 365 ใจกลางเมืองและบ้านลุมพินี ทาวน์เพลส และ บ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์ ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ควบคู่กับคอนโดฯ 2-3 โครงการ
“สำหรับ 9 โครงการเปิดใหม่ มูลค่า 8.5 พันล้านบาท มองเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน กลยุทธ์สำคัญจะเน้นโครงการที่ไม่ใหญ่และเร็ว ช่วยในแง่การเงิน ทุนต่ำ เสี่ยงน้อย” นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กล่าว
ขณะนายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ลลิล ระบุคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ราว 3% ภายใต้ความคาดหวัง เรื่องการกระจายวัคซีนในภาคประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มีแผนเปิดโครงการใหม่ รวมมูลค่า 6-7 พันล้านบาท ผ่านโปรดักต์แนวราบ เรียลดีมานด์ ซึ่งจะขยายตลาดให้กว้างขึ้น จากแบรนด์บ้านลลิลใหม่ ราคา 5-8 ล้านบาท
“ปีที่แล้ว ตัวเลขที่อยู่อาศัยตกทุกกลุ่ม ปีนี้น่าจะเทคออฟขึ้นตามเศรษฐกิจไทย แนวราบจะโต 5-7% ส่วนการเปิดโครงการใหม่ 10-12โครงการ เราเดินหน้าตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี และอีก 4 โครงการในไตรมาส 2”
เช่นเดียวกับ บมจ.เสนา หลังช่วงปีที่ผ่านมา ทำนิวไฮด้านยอดขายและกำไร ปีนี้ ประกาศลงสนาม ด้วยแผนเปิดโครงการใหม่ 17โครงการ มูลค่ารวม 1.5-1.6 หมื่นล้าน โดยตามแผนระบุ จะโฟกัสคอนโดฯ ระดับราคาเข้าถึงได้ รวมถึงกลุ่มต่ำกว่าล้านบาท ถึง 6 โครงการ ในโซนเมืองรอบนอก มีแหล่งงาน รวมถึงการพัฒนาแนวราบ กระจายทุกโปรดักต์ ที่จะมีการชิมลางร่วมทุนกับทุนญี่ปุ่น ฮันคิว ฮันชิน เป็นครั้งแรกด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ว่า การเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ปี 2564 นั้น จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ถึง 32.7% หรือประมาณ 82,594 หน่วย และอาจเพิ่มขึ้นได้มากสุดถึง 46% ที่ 90,000 หน่วย หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายจากการฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าที่คิด โดยช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเห็นภาพเปิดตัวโครงการใหม่อย่างชัดเจน ส่วนทิศทางการลงทุน คาดผู้ประกอบการยังคงจะลงทุนในบ้านจัดสรรมากกว่าคอนโดฯ ก่อนเกมพลิกกลับในช่วงท้ายๆ ของปีที่สัดส่วนคอนโดฯ น่าจะเริ่มกลับมามีสัดส่วนมากกว่าบ้านจัดสรรอีกครั้ง
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564