เมื่อสิ่งที่คิดไม่ได้เป็นแบบที่หวัง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เอกชนยักษ์ใหญ่ 2 รายชิงดำ หลังเป็นกระแสร้อนแรงในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดโครงการดังกล่าวยังไม่จบเพียงเท่านี้ อีกทั้งมีวี่แววว่าจะยืดยาวออกไปทั้งปี 2564
ล่าสุดเกิดการปะทะระหว่างบีทีเอส และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังจากคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ระหว่างศาลปกครองพิจารณาคดีในกรณีที่รฟม.เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ในการประมูลโครงการฯ ช่วงที่ผ่านมา แต่กลับพบว่ารฟม.ยกเลิกการประมูลในการคัดเลือกเอกชนอย่างกะทันหัน โดยให้เหตุผลว่าหากรอศาลปกครองฯ ตัดสินคดีจะทำให้โครงการฯล่าช้าถึง 1 ปี แต่ถ้าเริ่มดำเนินการเปิดประมูลใหม่จะกระทบต่อโครงการล่าช้าเพียง 1 เดือน เท่านั้น ส่งผลให้บีทีเอสเดินหน้าชี้แจงฟ้องเพิ่มอีก 3 คดี ซึ่งคาดว่าจะส่อทุจริตโครงการฯและไม่โปร่งใส
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยถึงข้อพิรุธในโครงการนี้ว่า กรณีที่ศาลปกครองจำหน่ายคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เป็นการจำหน่ายคดีเพียงบางส่วน แต่การพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางที่กำหนดให้ รฟม.ต้องชดเชยค่าเสียหาย จำนวน 500,000 บาท ยังคงอยู่ ขณะเดียว กันบีทีเอสอยู่ระหว่างให้ทีมกฎหมายพิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่เห็นด้วยในการจำหน่ายคดี เบื้องต้นจะต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564
“ขณะเดียวกันเราได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เบื้องต้นศาลอาญาได้นัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้อง วันที่ 15 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ต้องดูว่าศาลรับคำฟ้องหรือไม่ หากรับคำฟ้องจะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป รวมทั้งเราเตรียมฟ้องเพิ่มอีก 2 คดี
ในกรณีที่รฟม.ยกเลิกการประมูลและกรณีที่เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามกฎหมาย ส่วนการเข้าร่วมประมูล จะดูทีโออาร์ก่อนว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งรายละเอียดเกณฑ์การให้คะแนน แต่จุดยืนของเราคือไม่เห็นด้วยกับการใช้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน ส่วนบีทีเอสจะเข้าร่วมการเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 หรือไม่ คงต้องดูก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะอาจจะมีผลด้านกฎหมายได้”
เป็นไปในทิศทางเดียวกันเมื่อ พ.ต.อ.สุชาติ ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์โครงการ ซึ่งมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งผลการศึกษาระบุถึงรายละเอียด ลักษณะเส้นทางที่จะต้องก่อสร้าง ว่ามีความเสี่ยงในเรื่องของการก่อสร้างอย่างไรบ้างแต่เหตุใดจึงไม่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตั้งแต่ต้น โดยการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น
เริ่มมีความผิดปกติของการดำเนินการในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการรอยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนี้อย่างชัดเจน โดยปรากฏว่า มีบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซองมีหนังสือไปถึงผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผล ถึงหลักเกณฑ์ และความเสี่ยงสูง ของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในด้านต่างๆ (ข้อความจาก หนังสือ ITD ส่งถึง สคร.) ต่อมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งล้มล้างสิ่งที่หน่วยงานของรัฐทำมาหลายปี
การกระทำดังกล่าวยังมีพิรุธเนื่องจากผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ยื่นหนังสือให้ รฟม.จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ แต่ข้อเท็จจริง สคร. ไม่มีหน้าที่ในการส่งเรื่องให้รฟม.พิจารณา หากมีปัญหาควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายฯ เพราะมีอำนาจในการเห็นชอบร่าง แต่ไม่มีอำนาจในการแก้ไขร่าง ดังนั้นการจะส่งหนังสือไปที่ไหนต้องอ้างบทกฎหมายรองรับด้วย ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือดังกล่าวถูกส่งมาจากเอกชน ถึงรฟม.ใช้เวลาเพียง 16 วัน ในการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทั้งหมด ขณะที่เกณฑ์เดิมถูกศึกษาด้วยงบประมาณหลักร้อยล้าน แต่กลับถูกฉีกทิ้งเพราะเอกสารข้อกล่าวอ้างเพียง 1 หน้าครึ่งเท่านั้น
พ.ต.อ.สุชาติ ระบุอีกว่า เมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีกฎหมายมาตราใดให้อำนาจในการเปลี่ยน แปลงข้อกำหนดของ รฟม. ยกเว้นในกรณีเดียวคือไม่มีเอกชนรายใดมายื่นประมูล รวมถึงต้องยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อน แต่กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเอกชนร่วมประมูลจำนวนมาก ทั้งยังไม่เคยเสนอให้ ครม.พิจารณา ขณะเดียวกันที่ผ่านมาผู้แทนจากสำนักงบประมาณหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ได้ออกมาคัดค้าน
หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ๅจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติไว้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันตามกฎหมายแล้วคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อนถึงจะดำเนินการได้อีกทั้งประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมาตรา 32 ข้อ 9 ระบุว่าในกรณีที่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอหรือไม่มีผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอในการดำเนินโครงการให้หน่วยงาน
เจ้าของโครงการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนอีกครั้งพร้อมทั้งพิจารณาทบทวนเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯและดำเนินการประกาศเชิญชวนใหม่ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาเห็นแล้วว่าอาจส่งผลกระทบต่อหลักการของโครงการร่วมลงทุนที่ผู้มีอำนาจได้อนุมัติไว้ให้หน่วยงานเจาของโครงการนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง
ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้มคงอีกยาว ทั้งนี้คงต้องจับตาดูว่าการประมูลรอบ 2 สามารถเดินหน้าต่อได้หรือไม่
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง