รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ว่า ปัจจุบันทล.อยู่ระหว่างรอมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) พิจารณาอนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนหน้า
“จะเห็นเปิดประมูลได้ภายในปีนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบอร์ดพีพีพีเป็นผู้พิจารณา หากบอร์ดพีพีพีส่งหนังสือตอบกลับมาแล้ว เบื้องต้นต้องดูข้อสังเกตก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งปัจจุบันเลยแผนดำเนินการก่อสร้างไปเยอะแล้ว ทำให้ทล.ยังไม่ได้อัพเดทแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เพราะต้องรอบอร์ดพีพีพีอนุมัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน ส่วนการทบทวนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ล่าสุดทล.ได้เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ละทิ้งมอเตอร์เวย์เส้นทางดังกล่าว”
ขณะเดียวกันทล.ต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง หากบอร์ดพีพีพีพิจารณาแล้ว เพราะช่วงนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งงบประมาณในการก่อสร้างโครงการฯ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะอาจจะใช้เงินทุนค่าผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) ทั้งนี้ตามแผนยังยึดแนวเส้นทางเดิมเพื่อดำเนินการก่อสร้างและไม่มีแนวทางที่จะปรับแนวเส้นทางใหม่ โดยที่ผ่านมาประชาชนบางส่วนต้องการพัฒนาและยกระดับบริเวณอำเภอหนองหญ้าปล้อง-อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ แต่ทล.มองว่าถ้า ดำเนินการปรับแนวเส้นทางใช้พื้นที่บริเวณอำเภอหนองหญ้าปล้อง-อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่เกือบติดชายแดน รวมทั้งไม่มีรถวิ่งสัญจรบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบประชาชนที่อาศัยบริเวณละแวกนั้น เนื่องจากต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการฯ ขณะเดียวกันตามแผนทล.ต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี
ด้านการสำรวจและประเมินพื้นที่เวนคืนที่ดิน ได้ดำเนินการแล้ว ปัจจุบันทล.ได้จ้างที่ปรึกษาสำรวจประเมินอสังหาริมทรัพย์แล้วเสร็จ เบื้องต้นวงเงินเวนคืน 18,291 ล้านบาท ที่ดิน 3,416 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลังคาเรือน ต้นไม้ 735 ต้น ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี,สมุทรสงคราม,นครปฐม,เพชรบุรี ระยะทาง 119 กิโลเมตร (กม.)
สำหรับแนวเส้นทางตามแผนศึกษาเดิมในโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเชื่อมมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่อำเภอนครชัยศรี ผ่านจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม สิ้นสุดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ขนาด 4 ช่องจราจร ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 41 ตำบล 31 อำเภอ โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง 1.ด่านนครชัยศรี 2.ด่านตลาดจินดา 3.ด่านบางแพ 4.ด่านราชบุรี 5.ด่านวัดเพลง 6.ด่านปากท่อ1 7.ด่านปากท่อ2 8.ด่านเขาย้อย และ 9.ด่านท่ายาง
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)หมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 19,700 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันทล.อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารเพื่อประกวดราคา ขณะเดียวกันทล.จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทล.ขออนุญาตออกประกาศกฏกระทรวงเพื่อกำหนดการจัดเก็บค่าผ่านทาง เนื่องจากโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อขอใช้เงินทุนค่าผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) หลังจากนั้นคาดว่าใกล้จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หากครม.เห็นชอบพิจารณาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง และเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และดำเนินการลงนามสัญญา ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564
“ที่ผ่านมาเราขอเงินทุนค่าผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) วงเงิน 19,700 ล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณที่เราขอครม.อนุมัติในหลักการนั้น ขึ้นอยู่กับสำนักงานก่อสร้างสะพาน ของทล.เป็นผู้ทบทวนราคากลางในจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้นจะตั้งงบประมาณตามที่ขอไปในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสรุปรายละเอียดอีกครั้ง”
ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนกันยายน 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการต้นปี 2568 ส่วนการประเมินพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดินของโครงการฯนั้น ยืนยันว่าไม่มีพื้นที่ที่ต้องดำเนินการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากการก่อสร้างทล.ใช้พื้นที่บริเวณเขตทางหลวงทั้งหมด
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มีรูปแบบเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับ โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณ กม. 20+295 ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ระยะทางรวม16.4 กิโลเมตร สำหรับการก่อสร้างงานระบบ พร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) กรมทางหลวงจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยระบบเก็บค่าผ่านทางจะใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow เชื่อมต่อทุกโครงข่ายในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System)
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564