6 เดือนแรก ของปี 2564 ถือเป็นอีกช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 และการหดตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยช่วงไตรมาส 2 เดือน เม.ย. - มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของทุกบริษัท ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ เพราะเป็นไทม์ไลน์ที่รัฐบาล ประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรค ,ปิดสถานที่สำคัญ ทั้งขอความร่วมมือประชาชนกักตัวอยู่บ้านและประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่เข้มงวดถึง 29 จังหวัด ทำให้ธุรกิจโรงแรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ และอาคารสำนักงาน ไม่สามารถทำรายได้ - จัดเก็บค่าเช่าได้เหมือนเก่า
ขณะตลาดที่อยู่อาศัย ได้รับแรงกระแทกจากข้อจำกัดการเดินทาง และธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลตัวเลขการรีเจ็กต์ (ปฎิเสธสินเชื่อ) บางค่ายแตะระดับ 30-40% หน่ำซ้ำผู้ประกอบการคอนโดฯ ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติได้ ทำให้รายได้ไม่มาตามนัด ทั้งนี้ การบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ช่วงเวลายากลำบากอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นตัวชี้วัด ผลกำไร - ขาดทุน และฟอร์มของบริษัทนั้นๆ ได้อย่างดี
โดยพบแม้ครึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯเผชิญปัจจัยลบรุมเร้าหนัก แต่เมื่อเทียบไทม์ไลน์เดียวกันกับปีก่อนหน้า ซึ่งเกิดการระบาดใหญ่ครั้งแรก ปีนี้หลายบริษัทปรับตัวได้ดี ผ่านผลประกอบการ และ กำไรเป็นบวก ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยมีโครงการพร้อมขาย - พร้อมอยู่ โดยเฉพาะ กลุ่มสินค้าแนวราบ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ทำรายได้ฝ่าวิกฤติ
พฤกษาสต็อกลดฮวบ
เริ่มด้วยค่ายใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) นายปิยะ ประยงค์ CEO ระบุ แม้เศรษฐกิจรวมจะชะลอตัวจากโควิด-19 แต่ด้วย 'ที่อยู่อาศัย' ยังเป็นปัจจัย 4 พบตลาดมีดีมานด์ต่อเนื่อง ข้อมูลช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ตลาด กทม.-ปริมณฑล มีการโอนฯ เติบโต 4% มูลค่า 151,367 ล้านบาท โดยกลุ่มบ้านเดี่ยวเติบโตสูงที่ 25% มูลค่า 53,761 ล้านบาท สอดคล้องกับผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของบริษัท เทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงเพียงเล็กน้อย 1% รายได้รวมอยู่ที่ 13,222 ล้านบาท
โดยเป็นผลมาจากการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และแคมเปญ เคลียร์สต็อก 'ที่อยู่อาศัยกลุ่มพร้อมขาย' ซึ่งไม่มีต้นทุนใหม่ และ สินค้าแนวราบ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้สินค้าคงเหลือจาก 20,195 ล้านบาท ณ สิ้น มิ.ย.2563 ปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 8,488 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องด้วย กลยุทธ์เคลียร์สต็อก ได้ส่งผลให้กำไรสุทธิ ลดลง 23%
"เราเน้นการบริหารสภาพคล่อง - ขายสต็อก ซึ่งมีข้อดี ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ทำให้ปัจจุบันมีกระแสเงินสด 1.6 หมื่นล้าน ขณะใช้ช่องทางขายหลากหลายขึ้น ทำให้ลูกค้าเห็นโครงการมากขึ้น บวกกับทำแคมเปญ แม้อัตรากำไรสูงไม่เท่าก่อน แต่ทำให้ขายได้เยอะขึ้น"
เอพี พีคสุด 30 ปี
ด้าน บมจ. เอพี ไทยแลนด์ รั้งอันดับ 1 ของตาราง สร้างนิวเรคคอร์ดใหม่ทางรายได้สูงสุด ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 30 ปี สวนวิกฤติความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยรอบ 6 เดือนแรก จากกลยุทธ์ดาวกระจาย โครงการแนวราบ ที่มีพร้อมขาย - พร้อมโอน หลายทำเล นับ 100 โครงการ ดันให้บริษัท ทำรายได้รวม สูงสุด ถึง 20,506 ล้านบาท เข้าใกล้เป้าหมายท้าทายทั้งปี 43,100 ล้านบาท เช่นเดียวกับแง่กำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 37%
โดย คีย์แมนคนสำคัญ นายวิทการ จันทวิมล ระบุ ครึ่งปีแรก บ้านเดี่ยว และ ทาวน์โฮม เป็น ซุปเปอร์สตาร์ ในการขาย และเวียนกลับมาเป็นรายได้ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปี 2564 มีแผนเปิดโครงการใหม่ 31 โครงการ มูลค่า 37,500 ล้านบาท สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยครี่งหลัง มียอดขายรอโอนฯ จากคอนโดฯแล้วเสร็จ อีกมูลค่าร่วม 12,300 ล้านบาท คาดจะเป็นอีกปีที่เอพี สร้างประวัติการณ์
ศุภาลัย กำไรบวกเกิน100%
ส่วน บมจ.ศุภาลัย ท็อปฟอร์ม ครึ่งปีทำรายได้เพิ่มขึ้น 60% จากปีก่อนที่อยู่แค่ 6,871 ล้านบาท โดยนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ ระบุ หลักมาจากการทยอยส่งมอบคอนโดฯ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ขณะโครงการแนวราบมีสัดส่วนสูง 57% ส่งผลครึ่งแรก รายได้ ดันกำไรสุทธิที่ 2,471.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัท มียอดขายรอโอน รอบ ก.ค.- ธ.ค. จำนวน 14,202 ล้านบาท และแผนเปิดบ้านใหม่อีก 18 โครงการ คาดจะช่วยผลักดันเป้าหมายรวมที่ 2.8 หมื่นล้านบาท
แสนสิริกำสภาพคล่อง 1.7 หมื่นล.
ขณะบมจ.แสนสิริ รายงานต่อ ตลท.ว่า รายได้จากโครงการเพื่อขาย ในช่วงไตรมาส 2 กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการจัดกิจกรรมการขาย เพื่อเร่งระบายสต็อกในช่วงปี 2563 ซึ่งลูกค้าตอบรับดี จนดันให้ยอดโอนฯ สูงเป็นประวัติการณ์นั้น ปีนี้ตัวเลขจึงลดลง รายได้รวมครึ่งปีแรก หดตัว 16% อยู่ที่ 14,868 ล้านบาท ทั้งยังมาจากรายได้ในส่วนคอนโดมิเนียมลดลงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ ไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 662 ล้านบาท
สะท้อนความสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ Speed to Market และแผนความพร้อมในการปรับตัวรองรับทุกสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยกุญแจสำคัญในครึ่งปีหลัง คือ การบริหารเงินสดในมือ ซึ่งปัจจุบันบริษัท มีสภาพคล่อง รวม 1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมพรีเซลล์ แบ็กล็อก 24,400 ล้านบาท รับรู้ยาว 3 ปี
บ้านหรูกำไรโตดี
ขณะ ขาใหญ่ ในตลาดบ้านหรู บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ยังคงสามารถสร้างรายได้จากการขายบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลงวด 6 เดือน ทั้งกำไร และ รายได้เป็นบวก ที่ 15,605 ล้านบาท และ 3,613 ล้านบาท ตามลำดับ โดยกำไรส่วนหนึ่ง ยังได้รับมาจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม อย่าง บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์อีกด้วย รั้งอันดับ 1 ในตาราง ทั้งนี้ มีเป้าหมายรายได้จากการโอนฯทั้งปี 3 หมื่นล้านบาท
เช่นเดียวกับ บมจ. เอสซี แอสเสท สำหรับงวด 6 เดือน ระบุว่า บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 853.82 ล้านบาท หรือ 10.86% จากการเติบโตของรายได้จากโครงการแนวราบ ประกอบกับ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้อย่างดี โดยลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 63.39 ล้านบาท ทำให้กำไรครึ่งปีแรกอยูู่ที่ 936 ล้านบาท
ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก ซีอีโอ บมจ.ออริจิ้น ระบุ บ้านจัดสรรในเครือบริทาเนีย ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ยอดโอนฯ ทุบสถิติ New High เดิม 835 ล้านบาทในไตรมาส 1 มาสร้าง New High ใหม่ที่ 924 ล้านบาทในไตรมาส 2 ถือเป็นตัวผลักดันรายได้รวมของบริษัทงวด 6 เดือน เติบโตถึง 35% และมีกำไรสูง 1,677 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท ยังคงจับตา 3 ปัจจัยสำคัญ มาตรการควบคุมโรค , การฉีดวัคซีน และแผนกระตุ้นเยียวยาเศรษฐกิจ
อนันดาฝ่าวิกฤติ
สำหรับ บมจ.อนันดา นับเป็นช่วงท้าทายของบริษัท จากคดีพิพาท ' แอชตัน อโศก' และเป้าหมายการระบายสต็อกพร้อมอยู่จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ผลดำเนินการช่วงก่อนหน้า รวมครึ่งปีแรก สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ 14 ล้านบาทอีกครั้ง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ในภาวะขาดทุนถึง 424 ล้านบาท ขณะรายได้ 2 ไตรมาส รวมกัน อยู่ที่ 2,235 ล้านบาท อัตราลดลง แม้รายได้จากโครงการแนวราบเพิ่มขึ้น แต่การโอนฯ คอนโดฯ ร่วมทุน ซึ่งเป็นลูกค้าชาวต่างชาติจำนวนมากยังเป็นอุปสรรค ทั้งนี้ บริษัท ระบุ หวังสถานการณ์ฟื้นตัว เพื่อเพิ่มกำลังซื้อชาวจีน ที่มีความต้องการซื้อสูง หนุนเป้าหมายรอบปี 16,008 ล้านบาท
เฟรเซอร์ส - LPNรายได้ลด
สำหรับ บมจ. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ พบช่วงไตรมาส 2 รายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัย (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม) ลดลงราว 25% โดยระบุ มาจากการระบาดของโควิด ดำเนินกิจกรรมได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับตลาดแข่งขันสูง ผู้พัฒนาแนวราบปรับราคา กระตุ้นยอดโอนฯ รวมถึงปัญหาสถาบันเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ รวมรายได้จากการขายในรอบ 6 เดือน อยู่ที่ 6,110 ล้านบาท จากทั้งสิ้น 11 โครงการ เมื่อประกอบกับ รายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงงาน - คลังสินค้า - อาคารสำนักงาน -สามย่านมิตรทาวน์ ฯล รวมมีรายได้กว่า 8 พันล้าน กำไรสุทธิ 969 ล้านบาท
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น. เผยว่า ผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบของตลาด โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ทำให้บริษัทมีผลกำไร ลดลง 21.19% เนื่องจากรายได้ การขายคอนโดฯ ลดลง แต่สัดส่วนโครงการบ้านช่วยพยุง อีกทั้งรายได้จากธุรกิจให้เช่าและบริการ และธุรกิจบริหารเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีรายได้รวมลดลง อยู่ที่ 2,783 ล้านบาท เช่นเดียวกับ กำไร หดมาอยู่ที่ 243 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองมุมบวก สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง จากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน คาดส่งผลให้คาดธุรกิจอสังหาฯค่อยๆฟื้นในช่วงไตรมาส 4 โดยบริษัทเตรียมเปิดใหม่ 5 โครงการ มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท
ASW น้องใหม่โชว์กำไร
ปิดท้ายที่อสังหาฯ น้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ บมจ.แอสเซทไวส์ ขาขึ้นทั้งในแง่รายได้ และกำไร โดยผู้บริหารระบุว่า แม้เผชิญกับแรงกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รายได้ยังคงเติบโตอยู่กว่า 51% อยู่ที่ 2,281 ล้านบาท เนื่องด้วย เน้นกลยุทธ์การขายและการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะการโอนฯ ในกลุ่มคอนโดฯ แบรนด์หลักเจาะคนรุ่นใหม่ Kave, Atmoz และ Modiz ทำได้ดี ส่งผลมีกำไรสุทธิ 258 ล้านบาท