นาย ประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึง ทิศทางของตลาดบ้านมือสอง ว่า พบท่ามกลางซัพพลายที่อยู่อาศัยหลักมีภาวะความเสี่ยงล้นตลาดนั้น แต่กลับเห็นสัญญาณเร่งตัวในตลาดบ้านมือสองเพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาจแย้งกับคาดการณ์ของหลายฝ่าย โดยเหตุผลนั้นมาจาก คนส่วนมาก มองภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่ครบมิติ ต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป
โดยไทยอ้างอิงภาพจากผู้ประกอบการนักพัฒนาที่ดิน ที่มีเงินทุนในการโฆษณา และ 2. พิจารณาจากหนี้เสีย NPA และ NPLที่อยู่ในสถาบันการเงินเป็นหลัก ขณะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมองภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากบ้านมือสองเป็นหลัก และ เป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน สหรัฐอเมริกา โตขึ้นมากในรอบ 20 ปี ในช่วงยุคของโควิด-19
สำหรับตลาดบ้านมือสองในประเทศไทยขณะนี้ นายประวิทย์ เปิดเผยว่า ตลาดเติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ มีทั้งผู้ซื้ออยู่อาศัย และซื้อเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้จากข้อมูลจากกลุ่มนายหน้า ขณะเดียวกัน พบ บริษัทประเภท AMC ที่เรียกว่า Asset management Corporation มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ของอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยสิ่งที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอสังหาฯมากขึ้น รวมถึงกลุ่มบ้านมือสองด้วย
'' ข้อมูลอ้างอิง จากผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มถึง 800,000คน คิดเป็นอัตราขยายตัวถึง 45% (จากเดิม1.8 ล้านคน เป็น 2.6ล้านคน) สูงสุดในรอบหลายสิบปี โดยเป็นนักลงทุนรายย่อยอายุ 20-30 ปี ส่วนในตลาดบ้านมือสองมีคนอายุ20-30ปีซื้อบ้านมากขึ้น "
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า หากจะระบุถึงปัจจัยหลักที่ทำให้คนมาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและลงทุนมากขึ้น น่าจะมาจาก 1.อัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ในอัตราต่ำมายาวนานอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุจูงใจ 2.สภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย สถาบันการเงิน ต้องลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อในภาคอื่นๆ หันมาปล่อยในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น 3.มาตรการประกันเงินฝากที่เหลือเพียงหนึ่งล้านบาทของสถาบันการเงินทำให้เงินออกมาในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
4.ระยะเวลาปล่อยสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยยาวขึ้น 30 ปี หรือมากกว่า ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาลงทุนที่อยู่อาศัยที่ผ่อนถูกกว่าเช่า 5.มาตรการ WFH ช่วงโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น สามารถค้นหาและศึกษาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และ 6.เทคโนโลยีที่พัฒนาไปเร็วมากๆช่วงยุคโควิด ช่วยได้มากในการค้นหาและศึกษา อสังหาริมทรัพย์ สามารถเข้าถึงคนซื้อ- คนขาย ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ฉะนั้น สิ่งที่ตัวแทนการขาย หรือ นายหน้า ต้องเตรียมความพร้อม คือ การเร่งพัฒนาความรู้ให้เท่าทันในตลาด โดยเฉพาะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และเรียนรู้ภาษาการสื่อสาร เพื่อรองรับลูกค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ 'ฐานเศรษฐกิจ' ตรวจสอบ ข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ กลุ่มที่อยู่อาศัยมือสอง ณ ช่วงครึ่งปีแรก 2564 พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล มีทั้งสิ้น 34,258 หน่วย จากหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งหมด (มือหนึ่งและมือสอง) ราว 120,023 หน่วย มูลค่า 377,520 ล้านบาท โดยพบช่วงไตรมาส 2 บ้านมือสองมีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นมา 15.4% สวนทางตลาดบ้านมือหนึ่ง ขณะมูลค่ารวมครึ่งปีแรก 86,359 ล้านบาท ขยายตัวทั้งไตรมาสแรกและไตรมาส 2