การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 โดยภาครัฐงัดมาตรการ 'ล็อกดาวน์' ส่งผลกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก จีดีไทย (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) หดตัวรุนแรง 6.1% ฉุดธุรกิจก่อสร้าง มูลค่าการลงทุน ขยายตัวเพียง 1.4% ขณะการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง หดตัวถึง 4 % เพราะเอกชนชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ เปิดบทสรุปทั้งปี มีบ้านเปิดขายใหม่ ลดลง 41.6% อยู่ที่ 65,065 ยูนิต เท่านั้น เกิดภาพ โรคระบาด - หวาดตำรวจ และ งานขาดมือ ผลักแรงงานต่างด้าว 3 ชาติหลัก (เมียนมาร์ ,กัมพูชา และลาว ) กำลังหลักในอุตสาหกรรม ทยอยหนีกลับประเทศต้นทางเป็นจำนวนมาก
ขณะปี 2564 นั้น โควิดระลอก 3 เกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง ป่วนทั่ว กทม. -ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ จนรัฐบาลออกคำสั่ง 'หยุดก่อสร้าง' โครงการขนาดใหญ่ 1 เดือนเต็ม และตรวจเข้มแรงงานติดเชื้อ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนปลดล็อก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ภาคก่อสร้าง เผชิญวิกฤติซ้ำ เพราะแรงงานคงเหลือในระบบไม่เพียงพอ จากการหนีหายไปเลี่ยงตรวจสอบ และเร่หาแหล่งงานใหม่ในช่วงที่ผ่านมา
อสังหาฯจี้รัฐเร่งปลดล็อก
สอดคล้องข้อกังวลของอสังหาฯ เจ้าใหญ่ ควบธุรกิจก่อสร้าง อย่าง บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยนางสาว เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ระบุว่า ตลาดที่อยู่อาศัย กำลังเผชิญวิกฤติซ้อนมหาวิกฤติ เพราะ นอกจากช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดนคำสั่ง ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือนเต็ม ซัพพลายเชนของระบบถูกตัดทิ้ง เกิดผลกระทบมากที่สุดในรอบปีแล้ว
ปัจจุบันแม้ทุกไซส์งานสามารถกลับมาดำเนินการก่อสร้างได้ แต่พบแรงงานบางส่วนหายไป ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องเร่งหาคนมาชดเชย ด้วยค่าแรงที่แพงขึ้น ไม่นับรวมปัญหาต้นทุนการดูแลแรงงานที่งอกเพิ่มขึ้นมา จากการจัดหาวัคซีน และ วางระบบดูแล ป้องกันการติดเชื้อภายในไซส์ก่อสร้าง ให้กับผู้รับเหมาในทุกโครงการ เปรียบเป็นการเริ่มธุรกิจ จากปัญหาใต้พรม เพราะรัฐหวั่นการติดเชื้อในกลุ่มคนดังกล่าว ผ่านการเลี่ยงที่จะนำเข้ามาในระบบ ฉะนั้น อยากให้รัฐเร่งหาทางออกให้ ไม่ใช่ปิดกั้น
ไม่ต่างกับตลาดรับสร้างบ้าน นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยว่า ตลาดขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโควิด มาตั้งแต่ปี 2563 เพราะแรงงานต่างด้าวที่กลับไปประเทศ ไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก จากข้อจำกัดของรัฐบาลมากมาย ขณะแรงงานคงเหลือบางส่วน กลับไม่สามารถ ทำเอกสารขยายเวลาการทำงานได้ อย่างไรก็ตาม พบขณะนี้ มีแรงงานบางส่วน ที่เคยอยู่ในระบบการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือ คอนโดมิเนียมในเมือง ข้ามสายการทำงาน มาทำงานให้กับบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น ทั้งนี้ คาดอาจมาจาก มีการลดปริมาณคนทำงานต่อไซส์ลง และบางโครงการชะลอการก่อสร้าง
ก่อสร้างขาดแรงงานถาวร ฉุดฟื้นตัว
ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และช่วงชิงแรงงานข้ามอุตสาหกรรม ยังถูกเน้นย้ำผ่านคำให้สัมภาษณ์ ของนายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต่อ 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า ที่ผ่านมา แรงงานราว 80-85% ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นกลุ่มคนต่างด้าวแทบทั้งสิ้น โดยการสั่ง'ล็อกดาวน์' เป็นระยะๆของไทย เกือบ 2 ปี และรัฐบาลมีนโยบายผลักแรงงานกลับไปยังประเทศต้นทาง เพื่อให้ทำเอกสารการทำงาน (บัตรสีชมพูแสดงตัวตน) และกลับเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในรูปแบบ MOU (ไทยกับ 3 สัญชาติ ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์) และรูปแบบผ่านนายหน้า (โบกเกอร์) ตามกฎหมายฉบับใหม่
แต่พบว่าแรงงานจำนวนมาก ไม่ได้กลับเข้ามา จากข้อจำกัดเข้า-ออก ระหว่างประเทศที่ยาก ขณะกระทรวงแรงงาน แม้มีนโยบายหลักในการผ่อนปรนให้กับแรงงานคงเหลือ เช่น การย้ายนายจ้าง แต่การดำเนินการนำเข้าแรงงานใหม่ กลับชะลอ ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานอย่างหนักและอย่างถาวร แม้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะปรับตัวมาก่อน เรื่องการนำ 'พรีคาสท์' มาใช้ในการก่อสร้างบ้าน - คอนโดฯ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาแรงงานจะยืดเยื้อ และฉุดภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
เสนอตั้งวอร์รูมนำแรงงานเข้าระบบ
นายอิสระ ยังเรียกร้อง 4 ทางออกสำคัญให้รัฐบาลเร่งพิจารณา 1.เร่งการนำแรงงานเข้ามาแบบรัฐต่อรัฐให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้โบรกเกอร์ เป็นผู้ประสานช่วยเหลือจากความชำนาญ 2. ลดค่าใช้จ่ายต่อหัวลง เพื่อดึงดูดให้แรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง และ 3. เสนอตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจ ทำงานร่วม กระทรวงแรงงาน ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สาธารณสุข และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อดำเนินการโดยตรง ในการนำแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง และปลอดภัยในสถานการณ์โควิด
"แรงงานก่อสร้าง ในระบบมากกว่า 80% เป็นต่างด้าว หากยังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากจะฉุดต่อภาพการฟื้นตัวของอสังหาฯ แล้ว คงกระทบต่อภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยด้วย ไม่นับรวมความวุ่นวาย การช่วงชิงแรงงานข้ามภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคโรงงาน กับ ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น "
กระทุ้งรัฐเป็นเจ้าภาพหลัก
ขณะธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร เป็นห่วงว่า ขณะนี้ แม้ประเมินทิศทางตลาดจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จากรัฐบาลผ่อนคลาย แต่ยังต้องเฝ้าติดตาม 'ปัญหาขาดแคลนแรงงาน' ในภาคการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพราะจะทำให้การก่อสร้างล่าช้า และยอดสั่งซื้อวัสดุลดน้อยลงไปด้วย หลังเจอปัญหา คู่ค้าอสังหาฯ มีแรงงานไม่เพียงพอ ประเมินยังขาดคนอีกร่วม 30-40% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจทั้งระบบด้วย ทั้งนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ในการคัดกรองแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ฟีดเข้ามาในระบบให้รวดเร็วที่สุด เพื่อให้เพียงพอกับงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และงานก่อสร้างของเอกชน ส่วนข้อกังวลต้นตอการติดเชื้อ รัฐเองควรสนับสนุนในด้านวัคซีนเพื่อแก้ปัญหา
ทั้งนี้ นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เสนอว่า รัฐบาลควรปลดล็อกแรงงาน ผ่านการอำนวยความสะดวกในการต้อนรับกลับเข้ามา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ แรงงานเป็นพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้หลายอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อได้ นับว่าเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะส่งเสริมให้การผลิตของประเทศดำเนินต่อไปได้ดี