16 กันยายน 2564 - ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหารฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมมือกับศูนย์วิจัย Arup Foresight and Innovation ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษาแนวโน้มเมกะเทรนด์ (Mega Trends) ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2050 ที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของความเป็นเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและเมืองใกล้เคียง หรือเรียกว่า Greater Bangkok ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกไป 150 กม.
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและวิสัยทัศน์อันหลากหลายที่จะเป็นแนวทางเปลี่ยนแปลงให้ Greater Bangkok พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปสู่เมืองที่มีน่าอยู่ ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
" ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนจากสังคมชนบท ที่มีอัตราการพัฒนาความเป็นเมืองต่ำกว่า 30% เพิ่มเป็นมากกว่า 50% อย่างในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรของกรุงเทพมหานครเพิ่มเป็น 2 เท่า จนกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยผู้คนมากกว่า 10.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองที่ขาดการวางแผนและการเกิดขึ้นของ COVID-19 นับเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเป็นเมืองที่เปราะบางและส่งผลกระทบต่อประชาชน วิกฤตนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อความเป็นเมือง"
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกต่อการพัฒนา อาทิ เทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู ระบบพลังงานที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนและการขนส่งที่เริ่มใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ กำลังขยายขอบเขตใหม่ของการเชื่อมต่อทางสังคม ซึ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและการขยายเมืองไปในทางที่ดีขึ้น
ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า Greater Bangkok จะเกิดการพัฒนาไปสู่ 7 เมกะเทรนด์ที่สำคัญ ดังนี้
1.ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน (Wellbeing for all) ปัญหาสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วกำลังถาโถมใส่คนกรุงเทพฯ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนประมาณ 1 ใน 4 และก่อให้เกิดโรคต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 13 ล้านคนทั่วโลกต่อปี จากผลสำรวจผู้บริโภคมากกว่า 15,000 คน พบว่า ประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จัดเป็นความกังวลอันดับ 1 และอันดับ 2 ตามลำดับ และสอดคล้องกับความเห็นของผู้บริโภค 3 ใน 5 ที่เชื่อว่า สุขภาพของพวกเขาได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว และสะท้อนในผลสำรวจของนักเรียนมัธยมศึกษาไทยมากกว่า 1,000 คน พบว่า 92% ของทั้งหมด เชื่อว่า ทุกชีวิตมีค่าที่จะรักษาและให้ความสำคัญการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน
2.ประเทศชาญฉลาด (Wise nation) คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2025 การคาดการณ์อายุขัยของคน จะยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 72.6 ปี (เพศชาย) และ 78.1 ปี (เพศหญิง) และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีภายในปี 2050 ส่งผลให้อัตราการเติบโตเฉลี่ยของของจีดีพีของประเทศไทยอาจลดลง 0.75% ในช่วง 30 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่ารายจ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพของผู้สูงวัยไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าระหว่างปี 2019 - 2022 ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เกิดโอกาสแรงงานสูงวัยเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งต่อประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ จากการวิจัยพบว่าคนงานอายุมากกว่ามีผลงานดีกว่าคนงานคนรุ่นใหม่ในงานด้าน Soft Skills (ทักษะการจัดการ ทักษะทางสังคม และความภักดี) ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่ประเทศชาญฉลาด
3.การครอบงำด้วยข้อมูล (Data dominance) Internet of Thing (IoT) ได้ส่งผลให้ระบบของเมืองอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไม่กี่ราย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว โดย 7 ใน 10 บริษัทชั้นนำทั่วโลกตามมูลค่าตลาดคือบริษัทด้านเทคโนโลยี เช่นเดียวกับ 7 ใน 10 อันดับแรกของผู้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดก็คือบริษัทด้านเทคโนโลยีเช่นกัน
สะท้อนว่า ภาคเทคโนโลยีใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ โดย McKinsey and Co ประมาณการแอปพลิเคชั่นที่นำมาใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะในอาเซียนว่า สามารถลดการแพร่มลพิษได้ 260-270 กิโลตัน หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 5,000 คน สร้างงานใหม่ 1.2-1.5 ล้านตำแหน่ง และประหยัดค่าครองชีพได้ 9-16 พันล้านดอลลาร์
4.ความโปร่งใสในทุกแพลตฟอร์ม (Platform transparency) การลุกขึ้นมาเรียกร้องของประชาชนไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้น 11.5% ระหว่างปี 2009-2019 ทำให้เกิดสาธารณูปโภคพื้นฐานระบบดิจิทัลที่สามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการศึกษาภาครัฐมากขึ้น อันดับดัชนีความพร้อมทางด้านเครือข่ายของไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนอยู่ที่อันดับ 56 ในปี 2019 จากอันดับ 67 ในปี 2015 การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการใช่้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เป็นจุดแข็งที่สำคัญของคนที่อยู่อาศัยใน Greater Bangkok ซึ่งจะช่วยผลักดันให้นโยบายและการวางแผน จัดทำขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของประชนชนมากขึ้น
5.จากขยะสู่อาชีพ (Waste to jobs) ภายในปี 2025 คาดการณ์กันว่า ประเทศไทยจะมีขยะพลาสติกที่ขาดการจัดการกว่า 3.16% ของพลาสติกทั่วโลก ถือเป็นประเทศที่่ก่อมลภาวะพลาสติกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีที่เข้ามาในหลากหลายอุตสาหกรรมนี้ จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและงานใหม่ๆ ซึ่ง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออกพบว่า การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ อาจส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากถึง 324 พันล้านดอลลาร์ และสร้างงานในเมืองใหญ่ต่างๆ ของเอเชียได้มากกว่า 1.5 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2042 รวมทั้งการแปรรูปพลาสติกให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำ พลิกสถานการณ์ของไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ได้
6.วันหยุดเพื่อสุขภาพ (Health holidays) โดยในช่วงผ่านมา ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างหนักหน่วง ได้ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลายเป็นภาคที่มีส่วนต่อการสร้างการเติบโตของจีดีพีให้กับประเทศ เห็นได้จากเฉพาะการท่องเที่ยวภาคเดียวมีส่วนต่อการเติบโตของจีดีพี คิดเป็น 21.6% ของจีดีพีทั้งประเทศในปี 2018 และได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำของโลกสำหรับคนวัยเกษียณ และนักท่องเที่ยวที่แสวงหาการดูแลสุขภาพ ผ่านอุตสาหกรรมความเป็นอยู่ที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Wellbeing Industry) จนเป็นจุดหมายวันหยุดเพื่อสุขภาพ
7.ความกลมกลืนของชุมชนเมือง (Village harmony) คนไทยสูงวัยกำลังต่อสู้กับค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และเริ่มกังวลกับปัญหา "เมืองใหญ่" โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากความหนาแน่นของประชากร จากการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ พบความสัมพันธ์ของการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มว่า ความเป็นอยู่ที่ดีระหว่างประชากรในชนบทและในเมืองจะแตกต่างกันมาก
ดังนั้นจึงมีคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสวงหาการใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่สงบสุข โดยให้คุณค่ากับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพวกเขามากขึ้น การนำความก้าวหน้าในเมืองไปสู่ชนบท ด้วยการขนส่งทางไกลราคาถูก จะช่วยเปิดทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจกระจายออกไป จนสามารถให้ความน่าอยู่ที่มากขึ้น โดยมีปัญหาความแออัดน้อยกว่า ผ่านการขนส่งสาธารณะที่ราคาถูกและการใช้ยานพาหนะร่วมกัน (Shared Mobility) ที่จะเติบโตควบคู่ค่านิยมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพส่วนบุคคล
“โอกาสและความท้าทาย จะสร้างมุมมองใหม่รวมถึงเตรียมตัวความรับมือในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นใน Greater Bangkok ระยะ 30 ปีข้างหน้า ในแต่ละมิติของ เมกะเทรนด์ที่นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้แล้ว ยังช่วยให้นักพัฒนาเมือง ภาครัฐ และ เอกชน มองถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้สร้างเมืองสำหรับทุกสิ่งมีชีวิตที่น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
ข้อมูลอ้างอิง : งานวิจัย Megatrends for Urbanisation of Greater Bangkok