หนุน บ้านล้านหลัง ขยายวงเงินสินเชื่อ - ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

18 ก.ย. 2564 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2564 | 13:43 น.

มีศักดิ์ นายกอสังหาฯ ชลบุรี แนะทางออก อสังหาฯไทย เข้าสู่ภาวะซบเซา เสนอปรับเงื่อนไข โครงการบ้านล้านหลัง ธอส. ขยายวงเงินกู้เป็น 1.8 ล้าน พร้อมหนุนแก้กฎหมายดึงต่างชาติถือครองอสังหาฯไทยมากขึ้น

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ แอนด์ ลิฟวิ่ง จำกัด กล่าวถึง ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัยไทย ภายใต้วิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ว่า ขณะนี้ลูกค้าเข้าชมโครงการลดลง เนื่องจากไม่มั่นใจเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ ทำให้ภาพรวมตลาดชะลอตัวอย่างมาก เข้าสู่ภาวะถดถอย จึงอยากเสนอแนะทางออก ให้รัฐบาลแก้ไขมาตรการ และ ออกมาตรการกระตุ้นดังนี้ 

  • เสนอปรับหลักเกณฑ์ - เงื่อนไข โครงการบ้านล้านหลัง ของ ธอส. จากวงเงินสินเชื่อ 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท
  • เสนอปรับเกณฑ์เพดานการลดหย่อน
  1. ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ลดเหลือ 0.01%
  2. ค่าจดจำนอง 1% เหลือ 0.01%
  3. อสังหาริมทรัพย์จากราคา 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท 
  • เสนอลดภาษีธุรกิจเฉพาะอสังหาริมทรัพย์จาก 3.3% เหลือ 0.01%
     

นอกจากนี้ ยังพบว่า การพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารมีความเข้มงวดขึ้น เนื่องจากธนาคารมีความกังวลเรื่องรายได้ผู้กู้ที่ถูกผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 จึงอยากให้ ธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นหนี้ระยะยาว หากชะลอการปล่อยสินเชื่อในช่วงเวลานี้ จะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อยู่ ณ ปัจจุบัน 

 

นายมีศักดิ์ ยังกล่าวว่า อนาคตของอสังหาฯไทย เริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซาอย่างชัดเจน จากแนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอนาคตที่มีแนวโนเมจะลดลงในระยะยาว ฉะนั้น รัฐบาลต้องเร่งหาฟันเฟืองใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภาคอสังหาฯ ของไทย เป็นที่ต้องการของต่างชาติ โดยเฉพาะโซนอีอีซี มีศักยภาพสูง ฉะนั้น การเปลี่ยนโหมดจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่เมืองท่องเที่ยว ที่เอื้อต่อการพำนักอยู่อาศัยระยะยาวของชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง เป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

  • ขยายเพดานให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้มากขึ้น 
  • กำหนดมาตรการสนับสนุนให้นำสภาพคล่องที่ค้างอยู่ในระบบการเงิน มาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเช่าแทนการซื้อ 

"ภาพรวมอสังหาฯ ขณะนี้ชะลอตัว แม้บางบริษัท เผยว่า ยังสามารถขายได้ แต่ในแง่ธุรกิจ เป็นไปในลักษณะ กินเนื้อพวกเดียวกันเอง แย่งชิงลูกค้า ผ่านโปรดักส์ ,การออกแบบ, การเลือกทำเล ที่โดดเด่นกว่ากัน โดยแฝงมาโดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก  ในระยะสั้นว่ายากลำบากแล้ว ในอนาคต 3-5 ปี อาจยากกว่านี้ เช่นเดียวกับภาพใหญ่ ความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาคอุตสาหกรรม - การส่งออกที่ลดลง มีเวียดนามแซงหน้า อีกทั้ง โควิด ยิ่งซ้ำเติมการถดถอยของจีดีพี หากเป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรใหม่มาทดแทน คนมีรายได้น้อยลงเรื่อยๆ น่าเป็นห่วง ภาครัฐและเอกชนต้องหาทางออกให้กับประเทศไทย ผ่านศักยภาพเชิงท่องเที่ยว "

 

ทั้งนี้ กระแสรัฐบาลเตรียมเปิดช่องให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯไทยได้ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ศักยภาพสูงพำนักในประเทศไทยระยะยาว กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล แม้เงื่อนไขและรายละเอียดอื่นๆ โดยเฉพาะ การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ และที่ดิน ยังไม่มีความชัดเจนใดๆออกมา โดยอยู่ในขั้นการพิจารณาของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง