ที่ดินมักกะสัน140ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กำลังพลิกโฉม กลายเป็นเมืองไฮสปีดเทรน ประตูบานแรกเปิดรับคนทั่วโลกเข้าพื้นที่ โดยใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แม่เหล็กสำคัญเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกัน
ภายหลัง เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี ผู้รับสัมปทานคู่สัญญารฟท.รับมอบพื้นที่ทั้ง3ส่วนและเข้าพื้นที่ภายในวันที่24ตุลาคมนี้ประกอบด้วย พื้นที่ ไฮสปีดฯ,แอร์พอร์ลิงค์และที่ดินมักกะสัน ติดสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ของรฟท.ที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้ทั้งสองฝ่ายและกระจายความเจริญไปยังชุมชนรอบข้าง
รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่า นอกจากบริษัท บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด บริษัท ในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี จะ มีภารกิจหลักพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน แล้วยังต้องพัฒนาที่ดินมักกะสัน ตามสัญญาเช่า50ปี มูลค่า50,000 ล้านบาท ที่กลุ่มซีพีจะต้องชำระค่าเช่าทั้งหมดให้รฟท.ทันทีภายหลังจากส่งมอบพื้นที่
แผนพัฒนา กลุ่มซีพี ต้องการ สร้างอัตลักษณ์ บนที่ดินมักกะสันตามที่เคยประกาศไว้ รูปแบบซุปเปอร์ทาวน์เวอร์ ตึกสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูง 550เมตร หรือ120ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า1-2ล้านตารางเมตร ขณะเดียวกันยังต้องกันพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียวปอดขนาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า50ไร่ ก่อสร้างทางเชื่อมจากทางสาธารณะเข้าโครงการบริเวณถนนอโศก ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเชื่อมสถานีไฮสปีด เจาะอุโมงค์เชื่อมต่อ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี และสถานีไฮสปีดฯ
แหล่งข่าวจากกทม. ระบุว่า ทราบว่า กลุ่มซีพีจะพัฒนาซุปเปอร์ทาวเวอร์ตึกสูงที่สุดในไทย แลนด์มาร์คใหม่ ที่จะ ดึงคนเข้าตัวอาคารด้วย ไฮสปีดฯ ซึ่งจะมีการยื่นขออนุญาติสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ก่อนขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร เมืองมักกะสันจะมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยี ไม่ต่างจากโครงการวัน แบงค็อก บนถนนพระราม4ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
ย้อนไปช่วงเซ็นสัญญา ไฮสปีดกับรฟท.(24ต.ค.62) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มซีพียืนยันว่าจะเนรมิตพื้นที่นี้ให้มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 2 ล้านตารางเมตร มากกว่าที่รฟท.กำหนด ถึง 2 เท่าตัว มูลค่าลงทุน1.4แสนล้านบาท
โดยเน้นเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งโลก สถานพยาบาลที่มีความเป็นเลิศ ทั้งด้านการบริการและเทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของความบันเทิง ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ แน่นอนว่าต้องลงทุนสูงเพื่อออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นแม่เหล็กสะกดคนทั้งโลก
คนในแวดวงอสังหาริทรัพย์ ระบุว่าที่ดินแปลงมักกะสัน เป็นลีสโฮลด์เช่าระยะยาว ตั้งอยู่กลางใจเมืองล้อมรอบด้วยรถไฟฟ้ามี คอนโดมิเนียม แหล่งงาน เกิดขึ้นหนาแน่น จึงต้องพัฒนาเป็นเมืองช็อปปิ้ง ศูนย์การประชุม โรงแรม รองรับนักท่องเที่ยว ที่สามารถเดินทางถึงสนามบินได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยรถไฟความเร็วสูงอีกทั้งคนทำงานและนักธุรกิจที่เดินทางไปกลับยังเมืองอีอีซี
ขณะราคาที่ดินทะลุ1ล้านบาทต่อตารางวา เพราะมีเมืองขนาดใหญ่ มีไฮสปีดฯ รถไฟฟ้า และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่องได้แก่อโศก -เพชรบุรีตัดใหม่ รัชดาฯ -พระราม9เป็นต้น
“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจ ตึกที่สูงในประเทศไทยซึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มักใช้เป็นกลยุทธ์สร้างจุดหมายปลายทางเข้าพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าตึกสูงที่สุดในไทย ได้แก่ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนเซส แอท ไอคอนสยาม ถนนเจริญนครเขตคลองสาน ที่ความสูง 317.95 ม.70 ชั้น แซงหน้า ตึกมหานคร(คิงเพาเวอร์มหานคร) ย่านบางรัก ที่314เมตร
ตึกที่ประกาศตามมาว่าจะเป็นตึกที่สูงที่สุดอยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ โครงการแอสเซ็ทเวิลด์ทาวน์เวอร์แอทเอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์ถนนเจริญกรุง โรงแรมสูง450ม.100ชั้น เริ่มสร้างปี2565 และเดอะซิกเนเจอร์ทาวเวอร์แอทวันแบงค็อก พระราม4 ที่ความสูง 437.03 ม. 92ชั้น เปิดปี2566 ซึ่งทั้ง2โครงการเป็นของเจ้าสัวเจริญ
สุดท้ายมักกะสันคอมเพล็กซ์ที่ดินรถไฟฯของกลุ่มซีพี ก็ล้มแชม์จนได้ที่ความสูง 550เมตร 120ชั้นแต่หาก โครงการซุปเปอร์ ทาวเวอร์แอทเดอะแกรนด์ พระราม9ของ บริษัท จี แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่กลุ่ม เช็นทรัลถือหุ้นใหญ่ ไม่พับแผนเสียก่อน
ตึกนี้จะสูงที่สุดในไทยที่ 615 เมตร 125ชั้น ทันที ขณะบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)ที่ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะสร้างตึกคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ บนถนนพระราม 3 สูงที่สุดในไทยอีกราย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ความสูงอยู่ที่เพียง 236.8 เมตรเท่านั้น