ข้อดีของการลงทุนคอนโดมิเนียมราคาต่ำล้าน

11 ต.ค. 2564 | 00:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2564 | 11:07 น.

บทความโดย : สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่จำกัด "ข้อดีของการลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียมราคาต่ำล้าน"

คอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทก่อนหน้านี้อาจจะมีเกิดขึ้นไม่มาก และเป็นโครงการที่ผู้ประกอบการเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญหรือมีการเปิดขายน้อยมาก แต่ยังคงมีผู้ประกอบการบางรายที่เปิดขายในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อยูนิตแต่สัดส่วนอาจจะไม่มากนัก อาจจะมีเพียง 1 -2 โครงการต่อปีเท่านั้น แต่ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา

เริ่มมีผู้ประกอบการบางรายที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคานี้มากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น บริษัทแอล.พี.เอ็น. ดีเวลล็อปเมนท์จำกัด(มหาชน) และบมจพฤกษา ที่เปิดขายแต่ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่อีกรายที่เข้ามาเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทคือ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์

จำนวนคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่าล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้งโครงการที่มีราคาขายต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ยูนิตส่วนใหญ่มีราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะเริ่มกันที่ประมาณ 7 – 8 แสนบาทต่อยูนิตสำหรับห้องขนาดไม่เกิน 25 ตารางเมตรในทำเลชานเมืองของกรุงเทพหานครไม่ไกลจากแหล่งงานที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือถ้าเป็นโครงการที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ชั้นกลางของกรุงเทพมหานครราคาขายจะขยับขึ้นไปที่มากกว่า 900,000 บาทต่อยูนิต ซึ่งปรากฏว่า

คอนโดมิเนียมในระดับราคานี้ได้รับความสนใจทั้งจากกลุ่มคนรายได้ไม่มาก และกลุ่มของนักลงทุนที่เข้าไปซื้อเพื่อปล่อยเช่า แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารต่างๆ เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น ผู้ประกอบการที่มีโครงการระดับนี้พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนมาก ได้รับผลกระทบพอสมควรเพราะผู้ซื้อส่วนหนึ่งไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่า

ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการได้รับผลกระทบจากกระแสเงินสดที่ขาดหายไปทันที ดังนั้นผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะไม่ลงทุน กลับให้ความสนใจโครงการที่มีราคาขายช่วง 1 – 2 ล้านบาทต่อยูนิต  แต่สุดท้ายแล้วกลุ่มผู้ซื้อบางส่วนของโครงการระดับราคา 1 – 2 ล้านบาทต่อยูนิตก็คือ กลุ่มเดียวกับที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท และประสบกับปัญหาเดียวกัน คือ เรื่องการขอสินเชื่อธนาคาร ผู้ประกอบการหลายรายจึงลดการเปิดขายโครงการระดับนี้ไปอีก และพยายามหากลุ่มเป้าหมายใหม่ทดแทน

ย้อนไปก่อนปี2560 มีโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อยูนิตค่อนข้างมากเลือกที่จะชะลอการเปิดขายโครงการในระดับราคานี้ลงไปตั้งแต่ปี2561 เป็นต้นมา แต่ก็ยังคงมีโครงการในระดับราคานี้เปิดขายอยู่เพียงแต่จำนวนยูนิตไม่ได้มากเหมือนี่ผ่านมา แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการในระดับราคานี้ โดยเห็นได้ชัดเจนคือ บมจสนา ดีเวลลอปเม้นท์

ที่ทยอยเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคานี้ออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปี2563 – 2564 อาจจะยังน้อยกว่ารีเจนท์ กรีนเพาเวอร์ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่แล้วเสนาฯ มีการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อยูนิตมากที่สุด และยังมีอีกหลายโครงการที่จะเปิดขายในไตรมาสที่ 4 ปี2564 ค่ายแสนสิริเองก็ขยับเข้ามาเปิดขายโครงการในระดับราคานี้เช่นกัน

โครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อยูนิตอาจจะดูไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาที่สูงกว่า เพราะมูลค่าโครงการไม่มาก ต้องเปิดขายโครงการระดับนี้มากกว่า 1 โครงการจึงจะมีรายได้เทียบกับโครงการคอนโดมิเนียมระดับกลาง แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการที่โครงการหลายรูปแบบ และหลายระดับราคา

การมีโครงการรูปแบบนี้ก็เท่ากับว่าช่วยให้พวกเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้มากขึ้น และหลากหลายกว่า อีกทั้งโครงการรูปแบบนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างไม่นาน ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ในเวลาที่ไม่ยาวนานเกินไป บางโครงการใช้เวลาก่อสร้างไม่ถึง 1 ปี